วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๑)



แนะแนวทางการปฏิบัติ (๑)
ท่านครูบาอาจารย์ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวอะไรให้พิสดาร กว้างขวาง สุขุม เพราะว่าเท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนแต่ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันแล้ว ยังเหลือไม่กี่รูปเฉพาะพระบวชใหม่ เหตุนั้น เกี่ยวกับกฎของการปริวาสนี้ กระผมจะขอพูดคร่าวๆ พอเข้าใจแก่ผู้ที่บวชใหม่ ปฏิบัติใหม่
การเข้าปริวาสนี้ เราทำเพื่อความบริสุทธิ์ ต้องการให้กายของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้วาจาของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้ใจของเราบริสุทธิ์ เพราะว่ากาย วาจา และใจของเรายังไม่บริสุทธิ์ การเจริญพระกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของเราได้
เหตุนั้น เราจึงต้องประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาส ก็ขอปรับความเข้าใจว่า หลวงพ่อไม่ได้หมายความว่า ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันต้องครุกาบัติ เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อไม่ได้คิด และก็หลวงพ่อไม่มองท่านทั้งหลายในแง่อกุศล แต่หลวงพ่อคิดอย่างเดียว เข้าใจอย่างเดียวว่า ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้
ประการที่ ๑ ต้องการที่จะมาปฏิบัติธรรม เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และบูชาครูบาอาจารย์ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ตั้งใจไว้แล้ว
ประการที่ ๒ เพื่อให้การประพฤติวัตรของเรานี้สนับสนุนเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ต้องการให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อจะได้ช่วยกันจรรโลงพระศาสนาของเรา ให้เจริญรุ่งเรืองถาวรตั้งมั่นอยู่ได้ อันนี้เป็นความในจิตในใจโดยย่อ
เหตุนั้น ก่อนอื่นก็ขอปรับความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ คือการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ หากว่าเราทั้งหลายมีความระแวง หรือความสงสัย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติ เช่นว่า ต้องครุกาบัติข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นการเผื่อเหนือตกใต้ เพื่อต้องการไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้นในขันธสันดาน
พวกเราทั้งหลายจึงได้จัดงานปฏิบัติธรรมนี้ขึ้นมา หากว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว การปฏิบัติของเราก็ก้าวหน้า หากว่าเราไม่ทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ แม้ว่าเราจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในแง่ของสมถกัมมัฏฐาน จะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน จนเท้าแตก จะนั่งสมาธิเป็นหลายๆ ชั่วโมง ก็ไม่สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้เลย ไม่สามารถที่จะยังปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และอรูปฌานทั้ง ๔ ประการ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้เลย
หากว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดในขันธสันดาน ไม่สามารถที่จะบรรลุสามัญผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะอะไร เพราะว่า อกุศลจิตฝังจนแน่นอยู่ในจิตใจของเรา เป็นเกราะป้องกัน กั้นจิตของเราไม่ให้บรรลุคุณธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
หากว่าเรามาประพฤติวุฏฐานวิธี เพียงแต่คืนเดียว วันเดียว หากว่าบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งสมาธิสมาบัติ สามารถที่จะได้มรรคได้ผลตาม บุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่าเราเมื่อก่อนโน้นยังไม่ได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้อยู่กรรมเลย โอกาสที่จะได้บรรลุคุณสมบัติหรือสามัญผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุได้
และการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ สมมติว่า เราปกปิดอาบัติไว้ ๑ วัน การประพฤติวุฏฐานวิธีก็ต้องประพฤติ ๑ วัน เสร็จแล้วจึงจะขอมานัตต์ได้ ถ้าเราต้องครุกาบัติมาเป็นหลายเดือนหลายปี เราปกปิดไว้ เมื่อประพฤติวุฏฐานวิธี เราก็ต้องอยู่ปริวาสจนครบกำหนดที่เราปิดไว้เสียก่อนจึงจะขึ้นมานัตต์ได้ แต่ถ้าเราทั้งหลายได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย ก็สามารถที่จะยังสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า ทำไมเรานี้ต้องครุกาบัติมาเป็นเดือนหรือเราต้องครุกาบัติมาเป็นปีๆ มาประพฤติวุฏฐานวิธีเพียง ๓ วัน มันจะบริสุทธิ์ได้หรือ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้ ส่วนมากพวกเราเข้าใจกันในลักษณะดังนี้ เพราะเราทั้งหลายบวชมาแล้ว ส่วนมากก็เกิดความประมาท อาจจะทำพลาดไปบางสิ่งบางประการ เมื่ออกุศลจิตมีมาในจิตในใจของเราเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เกิดวิปฏิสารเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา
ท่านทั้งหลายอาจจะคิดได้ว่า การที่เราปกปิดอาบัติไว้นานๆ นั้น ถ้าพูดให้จริงๆ ลงไปแล้ว ส่วนมากเราไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะเหตุใดจึงไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะว่า เรานับตั้งแต่บวชมา เราบวชเข้ามาแล้ว ส่วนมากเราปลงอาบัติกันเกือบทุกวัน สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ จนถึงวรรคสุดท้ายว่า สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ หมายความว่า เราบอกไว้ทั้งอาบัติเบา ทั้งอาบัติหนัก ในเวลาเรา สัพพา ตา หรือปลงอาบัตินั้น เราได้บอกทั้งอาบัติหนัก ทั้งอาบัติเบา
อาบัติเหล่าใดที่เป็นอาบัติเบา ตั้งแต่ ทุกกฎ ทุพภาษิต ขึ้นมาจนถึง ถุลลัจจัย ก็เป็นอันว่าเราได้บอกไว้แล้ว บริสุทธิ์ไปแล้ว แต่อาบัติเหล่าใดที่เป็น ครุกาบัติ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว ไม่ถือว่าปกปิด ส่วนมากเราคิดว่าเราปกปิด แต่ที่แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ปกปิด คือเราบอกอาบัติทุกวัน สัพพา ตา ทุกวัน ถึงแม้ว่าเราจะปกปิดไว้มาก หรือไม่ได้ปลงอาบัติ ไม่ได้ สัพพา ตา มาถึงจะมากเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะไม่เกิน ๑๕ วัน เพราะเหตุใด เพราะ ๑๕ วันนี้เราลงอุโบสถครั้งหนึ่ง ในขณะที่ลงอุโบสถนั้นเราก็ สัพพา ตา หรือบอกประจานตัว เพื่อความสมบูรณ์ และก็บอกอาบัติทุกวันๆ
เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจว่าเราปกปิดอาบัติไว้ พวกเราทั้งหลายเมื่ออัพภานกรรมแล้ว ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นมา เพราะอาศัย สงฆ์วีสติวรรค เป็นผู้รับรองหรืออาศัยบารมีของท่าน
แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายเคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็มาบวชพระทีหลัง อาบัตินั้น ในเมื่อเรามาบวชเป็นพระนี่ เวลาเราเข้ากรรมมาฝึกปฏิบัติ ก็บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เป็นพระนี้เท่านั้น แต่ในสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายต้องไปเข้ากรรมใหม่อย่างน้อย ๑ ครั้ง เมื่อเข้าแล้วก็ออกปริวาสกรรม เสร็จแล้วก็ขึ้นมานัตต์แล้วก็ขออัพภานก็จึงจะบริสุทธิ์ได้ ดังนี้
หลวงพ่อพูดเพียงคร่าวๆ ก็พอสรุปได้ว่า เราเข้าปริวาสนี้ก็เพื่อให้ศีลของเราบริสุทธิ์ หากว่าศีลของเราไม่บริสุทธิ์ การปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่ได้ผล ถ้าเจริญพระกัมมัฏฐาน ในส่วนของสมถะก็ไม่สามารถที่จะได้ฌานได้สมาบัติ แต่ถ้าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหตุนั้น เผื่อเหนือตกใต้ เผื่อความผิดพลาด เราทั้งหลายจึงได้ให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีควบคู่กันไป ขอจบสั้นๆ ในเรื่องอยู่ปริวาสเพียงเท่านี้
ต่อไปเรื่องการปฏิบัติ หลวงพ่อก็จะไม่พูดอะไรให้มาก เพราะว่าท่านครูอาจารย์ทั้งหลาย ส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันทั้งหมดแล้ว ผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ไม่กี่รูป แต่เพื่อผู้บวชใหม่ให้เข้าใจในแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ก็จะขอกล่าวโดยย่อ พอเข้าใจ พอจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ
คือการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ส่วนมากปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้ผลคุ้มค่า ครูอาจารย์หรือญาติโยมผู้ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐากก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า ผู้ประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า เหนื่อยเปล่าเสียเป็นส่วนมาก เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะอาศัยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะได้ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อด่านะ
ส่วนมาก เราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะลงไปได้ การประพฤติปฏิบัติธรรม นอกจากอกุศลธรรมอื่นๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มานะทิฏฐิ ผู้ใหญ่ก็มานะทิฏฐิมาก ผู้ที่เป็นพระเล็กเณรน้อย ก็มีทิฏฐิมานะเหมือนกันทั้งนั้น แต่จะมากหรือน้อยนั้น ก็แล้วแต่อุปนิสัย
เพราะเหตุใดจึงไม่ได้บรรลุ ไม่ได้คุณธรรมสมบัติหรือไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เพราะอะไรๆ ก็ถือว่า กู กูดีแล้ว กูรู้แล้ว กูเข้าใจแล้ว อะไรๆ ก็เข้าข้างตัวทั้งหมดด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ เดินจงกรมก็ว่า กูได้ปฏิบัติมาแล้ว เราเคยเดินมาแล้ว นั่งสมาธิกูเคยทำมาแล้ว กูเคยทำได้แล้ว
เราไปที่โน้นที่นี้ เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ กูเคยปฏิบัติมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว ครูบาอาจารย์เทศน์อย่างนั้นสอนอย่างนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เราไปที่นั้นที่นี้ว่า เทศน์ไม่ดี แสดงไม่ดี การเทศน์การสอนไม่ได้เรื่อง สำหรับตัวเองก็สรุปแล้วว่า คนอื่นสู้เราไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของเราจึงไม่ได้ผล ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อว่าเป็นการสรุป นับตั้งแต่หลวงพ่อได้สอนธรรมะภาคปฏิบัติมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้
เพราะเหตุใด บรรดาผู้ปฏิบัตินั้นผู้ที่ได้ผลจึงมีน้อย ผู้ที่ไม่ได้ผลจึงมีมาก หลวงพ่อก็มาสรุปว่า มันอยู่ที่ไหน เพราะอะไร มันผิดที่ตรงไหน เมื่อสรุปๆ ลงมาแล้วก็เข้าใจว่า ที่ไม่สามารถทำได้เพราะอำนาจมานะทิฏฐิความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว เท่านี้แหละท่านทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัวนี้ เป็นสภาวะกั้นจิตของเรา ไม่ให้บรรลุคุณงามความดี พูดสั้นๆ ท่านทั้งหลายไปคิดเอาเอง ไปคำนวณเอง
สมมติว่า เราไปสถานที่ต่างๆ ไปเข้าปริวาสไปปฏิบัติที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง กฎกติกาอะไรที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ถวายไว้ ส่วนมากพวกเราทำไม่ได้ ท่านไม่ให้คุยกัน เราก็คุยกัน ท่านไม่ให้สูบบุหรี่ เราก็สูบบุหรี่ ท่านบอกไม่ให้ทำอย่างโน้น ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ เราก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ทำตาม ท่านให้เดินอย่างนั้น ท่านให้นั่งอย่างนี้ เราก็ไม่ทำตาม ท่านไม่ให้คุยเราก็คุย อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ขออภัยหลายๆ พูดความจริงที่ค้นคว้ามาแล้วว่ามันสรุปมาแล้วเป็นอย่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่างนะท่านทั้งหลาย
สรุปว่า ที่เราทำไม่ได้ เพราะอำนาจทิฏฐิมานะ ท่านทั้งหลายอาจจะว่าหลวงพ่อด่า สูบบุหรี่ กินหมากอะไร แต่ไหนๆ มาหลวงพ่อไม่เคยว่า หากครูบาอาจารย์องค์อื่นท่านจะว่า หลวงพ่อก็ไม่ว่าและไม่ห้าม บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ สูบบุหรี่นี่ผิดไหม มันเป็นการห้ามการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลหรือ อะไรทำนองนี้ก็ตาม หลวงพ่อก็จะพูดคำเดียวว่า การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ก็ดี ผู้กินหมากก็ดี สามารถที่จะได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติได้เหมือนกัน ผู้สูบบุหรี่ก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ ถึงสวรรค์ได้ ถึงพรหมโลกได้ และก็ได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติได้
หากว่า เราพอที่จะอดได้ก็อดไป พอที่จะทนได้ก็ทนไป โดยเฉพาะเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หากเป็นไปได้ก็งดเสียก่อน เพราะเราอยากเลิก อยากฝึกเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็อย่าสูบอย่าเคี้ยว หรือว่าพอเป็นไปได้เราก็งดมันเลย เพราะไหนๆ มาแล้ว เรามาปฏิบัติธรรมขั้นสูง ทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไปสิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน แค่หมากพลูบุหรี่ เราคงทำได้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ แต่ไม่ใช่หลวงพ่อด่าหลวงพ่อว่านะ
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่มาสู่สถานที่แห่งนี้ อย่าคิดว่า วัดพิชฯ นี้ ระบบการปกครองทุกสิ่งทุกอย่างเคร่งครัดเหลือเกิน อะไรๆ ก็จะแตะต้องไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ ก็ถือว่าคิดผิด เพราะเหตุใด ลองมองดูสามเณรตัวน้อยๆ เขาก็ยังทำได้ เราก็สามารถทำได้เหมือนกัน ถ้าว่าระบบการปกครองนั้นเคร่งเกินไป บรรดาพระเล็กเณรน้อยก็คงเดือดร้อนเหมือนกัน คงเดือดร้อนไปตามๆ กัน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ
สรุปแล้วว่า การปฏิบัติธรรมะของเรามันไม่ก้าวหน้า ก็เพราะว่า เราข่มมานะทิฏฐิลงไม่ได้ เหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย เรามาประพฤติปฏิบัติ ณ สถานที่แห่งนี้ เรามาปฏิบัติเพื่อกายสามัคคี วาจาสามัคคี จิตสามัคคี เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์
เราเอาสิ่งใดไปบูชาในสิ่งที่เราจะบูชา คือเราจะบูชาพระพุทธเจ้า เราจะบูชาพระธรรมเจ้า เราจะบูชาพระสังฆเจ้า เราจะบูชาครูบาอาจารย์ พ่อ แม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เราก็ต้องทำดอกไม้ธูปเทียนของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อนให้ดีเสียก่อน ให้สวยให้งามเสียก่อนจึงจะบูชาได้ ข้อนี้ฉันใด
พวกเราทั้งหลายจะบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ เราก็ทำกายของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำวาจาของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำใจของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำความคิดของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะสมควรว่า เราได้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์
ถ้าเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย เวลา ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ เป็นเวลาที่คุ้มค่ามาก ไม่ใช่ว่าของไม่มีคุณค่า ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ถือว่าเป็นของที่มีคุณค่ามาก เพราะเหตุใดจึงมีคุณค่ามาก เพราะ ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ทุกวินาที ครูบาอาจารย์มอบให้เราแล้ว ถวายเราแล้ว ครูบาอาจารย์ถวายเราผู้ปฏิบัติธรรมทุกวินาที ลักษณะอย่างนี้เป็นของหายากนะท่านทั้งหลาย
พวกเราทั้งหลายส่วนมากชีวิตความเป็นอยู่ของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น เนื่องด้วยสังคม เดี๋ยวก็โน้น เดี๋ยวก็นี้ อะไรจิปาถะ บางวันเกือบจะไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เกือบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ถือว่าเป็นของที่ทำได้ยาก ไม่ใช่ว่านั่งอยู่นอนอยู่ก็จะได้ไป
การที่คณะครูบาอาจารย์จะมอบถวายชั่วโมง นาที วินาทีให้พวกเราเป็นของที่หายากเหลือเกิน สำหรับครูบาอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านเสียสละเพื่อเราทั้งนั้น ทำงานเพื่อพวกเราทั้งนั้น ญาติโยมที่ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐาก ก็เพื่อพวกเราทั้งนั้น ท่านไม่ขอแม้แต่วินาทีเดียว
เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาถึงแล้ว ก็ขอให้ใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เวลาเดินจงกรมก็ขอให้ตั้งใจเดินจริงๆ อย่าให้เป็นแต่เดิน เวลาเดินขอให้ทันปัจจุบันจริงๆ ต้นยก กลางยก สุดยก อะไรทุกสิ่งทุกอย่างให้มันทันจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม ขอให้ทันมันทุกอย่าง ความคิดที่เกิดขึ้นก็ขอให้ทันมันทุกอย่าง
เมื่อใดเราสามารถทำให้ทันมัน ตามันเคลื่อนไหวหรือมีปฏิกิริยาอย่างไร เราก็ทันมัน เห็นอย่างไร เราก็ทันมัน และขณะนั้นใจของเรามันคิดอย่างไร เราก็ทันมัน หูได้ยินเสียง เสียงที่เราได้ยิน ก็ให้ทันมัน ให้ทันเสียง แล้วก็ใจที่รู้ว่าเสียงนั้น ก็ให้ทันมัน จมูกได้กลิ่น ก็ให้ทันมัน ทันการเคลื่อนไหวของจมูก กลิ่นที่มากระทบกับจมูก แล้วก็ใจที่รู้อาการกระทบกลิ่นนั้น ก็ขอให้ทันมัน
เวลาใจของเรารู้จักสัมผัสอาการ รสต่างๆ ก็ขอให้ทันมันว่า รสอะไร เปรี้ยวหวานอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงมากระทบอย่างนี้ และใจที่รู้อาการกระทบของกลิ่นนั้น ก็ให้ทันมัน กายของเรามันถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ให้ทันมัน แล้วก็รู้ให้ทันใจของเราให้รู้ทันมัน
ส่วนมากพวกเราไม่ทันตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลามันมีอะไรเกิดขึ้นมาเราไม่ทัน ปล่อยให้ใจเพลินไปตามอารมณ์ เพลินไปตามรูป เพลินไปตามกลิ่น เพลินไปตามรส เพลินไปตามเสียง เพลินไปตามสัมผัส เราอยู่ในประเภทที่ว่า แมลงภู่ แมลงผึ้ง ที่บินแสวงหาเกสรดอกไม้ ตามปกติแมลงภู่ก็ดี แมลงผึ้งก็ดี มันจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันบินแสวงหาซึ่งกลิ่นอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด
ใจของเราก็เหมือนกัน มันไม่อยู่นิ่ง แล้วก็วิ่งไปตามรูป วิ่งไปตามเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เมื่อมันวิ่งไปแล้ว มันไม่วิ่งไปเฉยๆ มันเอาความโลภ โกรธ หลง เอามานะทิฏฐิ อะไรจิปาถะเข้ามาด้วย พูดสั้นๆ ว่า มันเอาความดีใจเสียใจเข้ามาด้วย มันไม่ไปเฉยๆ
เพราะฉะนั้น ใจของเรานี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้อาการเคลื่อนไหวของรูป ของนาม รูปมันเคลื่อนไหวอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร ก็ขอให้ทัน ให้รู้ทันว่า ใจของเรามันเคลื่อนไหวอย่างไร และขณะที่มันเคลื่อนไหวอยู่นั้น มีอะไรที่เกิดขึ้น ความโลภ โกรธ หลง มีไหม ใจเรามีไหมบุญกุศล
ก็ขอให้มันรู้ตลอดเวลา รู้แม้เมื่อเรากำหนดอิริยาบถยืนว่าเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่า อาการพองอาการยุบเหมือนกัน พองหนอ ยุบหนอ ไม่ใช่ว่าเราจะพูดแต่ปากเปล่า ก็ต้องรู้ว่าอาการพอง ต้นพอง กลางพอง สุดพองนั้นเป็นอย่างไร อาการพอง อาการยุบ เกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างไร ขณะนั้นมันเป็นอย่างไร มันหยาบมันละเอียดแค่ไหนเพียงไร ในขณะมันกระทบอยู่นั้น โลภ โกรธ หลง มันมีไหม โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชามีไหม เราต้องดูมันให้เห็นให้ทันเวลา
เพราะเหตุใด จึงให้ทันมันทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพราะว่าคุณสมบัติที่เราต้องการ อยากได้ อยากถึงนั้น เช่น สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ที่เราต้องการ ที่จะได้นั้น หากว่า เราไม่ทำสภาวะดังกล่าวให้สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะได้มาซึ่งสามัญผล
เพราะว่าสามัญผลคือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน หรือว่า กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล หรือโลกุตตรกุศลจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น สมาธิก็ดีหรือฌานก็ดีจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พองยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง มองข้ามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มองข้ามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มองข้ามอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง เรามองข้ามสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เพราะเหตุใดจึงมองข้าม
เพราะว่าเป็นสภาวะที่เคยชินแล้ว เมื่อเป็นสภาวะที่เคยชินก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน การที่ปล่อยไปตามธรรมชาตินั้นแหละ สามัญผลจึงไม่เกิดขึ้นแก่เรา เพราะว่าเราลืมไปเผลอไปตามอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า โบราณท่านกล่าวว่า อันร่างกายยาววาหนาคืบนี้เป็นแก้วสารพัดนึก สามารถที่จะนึกได้ดังใจหมาย ถ้ามีความฉลาด
แต่พวกเราก็มองข้ามอีกนั่นแหละ ก็คิดว่าแก้วสารพัดนึกนั้นเป็นของวิเศษอยู่เขาลูกนั้นอยู่เขาลูกนี้ หรืออยู่กับผู้ที่วิเศษอย่างนู้น อยู่กับผู้วิเศษอย่างนี้ มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง ไม่มองตัวเอง ไปมองอย่างอื่น มันก็จึงยังไม่ได้สามัญผลที่เราต้องการ หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เราย่อมมุ่งหวังจะได้สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ความอยากได้ของเรานี้มีจริง แต่มองข้ามสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ ผลที่เราต้องการจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า หลวงพ่อพูดอยู่เสมอว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบเป็นสิ่งที่สามารถจะให้เกิดทรัพย์สมบัติได้ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ ไม่ใช่ว่ามันจะไปเกิดอยู่ที่อื่น มันเกิดอยู่ที่นี้
หมายความว่า ผู้ที่แสวงหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม เขาก็แสวงหาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ เพราะว่าเขาฉลาดในการแสวงหา เขาแสวงหาจากจมูก หู คอ ลิ้น กาย ใจ จากข้อมือ ข้อเท้า จากแขนอะไร เขายังได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี อย่างนี้ถึงจะได้
ถ้าเราฉลาดในการแสวงหา ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เพียงแต่เขาแสวงหาจากเท้าเท่านั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ หาเงินจากข้อมืออย่างเดียวนั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ เขาหาเอาจากฟันของเราอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเป็นเศรษฐีได้
สรุปแล้วว่า คนที่มีความฉลาด สามารถที่จะแสวงหาเอาทรัพย์ที่เป็นโลกิยทรัพย์ได้จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ มันเกิดจากตัวนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาเอาที่อื่น แต่เพราะพวกเรามองข้ามปัญหาใกล้ตัว แล้วก็มีแต่อยากสบาย มีแต่อยากได้ แต่มองข้ามปัญหาใกล้ตัว จึงแสวงหาในสิ่งที่ไกลตัวออกไป ผลสุดท้าย แทนที่จะได้ผล กลับช้ำใจ เมื่อเราทั้งหลายแสวงหาเอาทรัพย์สมบัติในส่วนที่เป็นทางคดีโลกจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ฉันใด
พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านแสวงหาเอาโลกุตตรทรัพย์ ท่านก็แสวงหาเอาจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปแสวงหาเอาที่อื่น คือตาของเราที่มีอยู่นี้ สามารถที่จะแลกเอาซึ่งโลกุตตระได้ หูที่ฟังอยู่นี้ สามารถให้เกิดโลกุตตระได้
จมูกที่ได้กลิ่นอยู่นี้ ทั้งเหม็นทั้งหอม สามารถที่จะให้เกิดซึ่งโลกุตตระได้ ปากของเรานิดเดียวเท่านั้น สามารถทำให้เกิดโลกุตตระได้ ร่างกายของเราทุกส่วน สามารถที่จะทำให้เกิดโลกุตตระได้ ท้องพองท้องยุบของเราที่พองขึ้นยุบลงนี้ สามารถจะทำให้เกิดโลกุตตระได้ โลกุตตรธรรมจะเกิดก็เกิดที่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น
เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ต้องดูให้เป็น อย่าเป็นแต่ดู กำหนดให้เป็น อย่าเป็นแต่กำหนด ที่หลวงพ่อว่าโลกุตตระมันเกิดที่นี้ ก็เพราะว่า เวลาจะบรรลุจริงๆ แล้ว บางทีเราเพ่งแต่ตาอย่างเดียว เห็นหนอๆ ก็สามารถให้เกิดโลกุตตระได้ คือสามารถที่จะให้เกิดโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นต้นได้ เพ่งดูที่ตาอย่างเดียว กำหนดที่ตาอย่างเดียว สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้
ถ้าหากว่าเราพิจารณาดูแต่หูอย่างเดียว กำหนดเสียงอย่างเดียว ได้ยินหนอๆ เมื่อเรากำหนดไปๆ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อเกิดสติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นมรรค ผล พระนิพพานได้ มันเกิดที่ตรงนี้
จมูกของเราก็เหมือนกัน โลกุตตรธรรมสามารถที่จะเกิดขึ้นในขณะที่เราสูดกลิ่นนี้ กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆ อย่างเดียว ก็ได้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ ได้ฌาน ได้มรรค ได้ผลที่ตรงนี้ ลิ้นของเราก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า รสหนอๆ อย่างเดียว สามารถที่จะสำเร็จสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ หรือว่าเรากำหนดว่า ถูกหนอๆ แข็งหนอๆ อย่างเดียวสามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน
หากว่าเรากำหนดพองหนอยุบหนออย่างเดียว ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งฌาน ซึ่งสมาบัติ ได้มรรค ได้ผล หรือว่าเราจะกำหนดตามเวทนาว่า สุขหนอๆ หรือว่า ทุกข์หนอๆ ไม่ต้องเอาอย่างอื่น ทุกข์หนอๆ สุขหนอๆ อย่างเดียวก็สามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล
หรือว่าเราจะกำหนดความคิดอย่างเดียว คิดหนอๆ กำหนดที่หัวใจของเรา กำหนดว่า คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ก็สามารถที่จะได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล ส่วนมากพวกกำหนดจิตอย่างเดียวนี่ เท่าที่สังเกตมาจะได้ฌานมากกว่าอย่างอื่น
สรุปแล้วนะท่านทั้งหลายว่า ร่างกายยาววาหนาคืบนี้ถือว่าเป็นสมบัติมหาศาล โลกิยทรัพย์ก็เกิดอยู่ที่ตรงนี้ จะเป็นโลกิยทรัพย์ของมนุษย์ก็ดี ของเทพก็ดี ของพรหมก็ดี ก็เกิดอยู่ในนี้ โลกุตตรทรัพย์ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ก็เกิดอยู่ที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดอยู่ที่อื่น
แต่เพราะพวกเราทั้งหลายถูกตัณหา มานะ ทิฏฐิครอบงำ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมของที่มีอยู่ ลืมตา ลืมหู ลืมจมูก ลืมลิ้น ลืมกาย ลืมใจ ลืมอาการพองอาการยุบ ลืมเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นต้น ไปแสวงหาทรัพย์ภายนอก ไม่แสวงหาทรัพย์ภายใน ไม่แสวงหาทรัพย์ที่อยู่ใกล้ตัวเอง การบรรลุหรือว่าจะได้มาซึ่งฌาน สมาบัติ การบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน จึงเป็นของหายากได้ยาก
เราจะสังเกตได้ว่า เวลามาประพฤติปฏิบัติร่วมกัน ส่วนมากชั่วโมงการปฏิบัติของเรามีน้อย มีเวลาส่งจิตส่งใจไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนมาก มัวคลุกคลีกัน คุยกันอะไรกันเสียเป็นส่วนมาก จะเดินก็ปล่อยอารมณ์ เวลานั่งก็ปล่อยอารมณ์ เวลากินก็ปล่อยอารมณ์ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ส่วนมากเมื่อเราปล่อยอารมณ์แล้ว ไม่รักษาอารมณ์ เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ (โดยปล่อยใจไปตามอารมณ์ต่างๆ) จากวันนี้ถึงวันตาย หลวงพ่อขอรับรองว่า ไม่ได้อะไร เสียแรงเปล่าๆ
เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ไหนๆ เราก็มาปฏิบัติ เพื่อตนเองบ้าง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการมีสติ สัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่ามองข้ามปัญหาใกล้ตัว ขอให้มองดูตัวของเราตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น ถึงใจ มองดูอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในใจของเราว่า ใจของเรานั้น ขณะนี้มันมีอะไรอยู่บ้าง ร่างกายของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง เรารู้แล้ว
แต่ในใจของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง มีอะไรอยู่ในใจของเรานี้ มันดีหรือมันชั่ว มันดีสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง หรือว่ามันยังไม่สมบูรณ์ มันบริสุทธิ์แล้วหรือยังไม่บริสุทธิ์ มองดู ทีนี้เราไม่เป็นวัวลืมตีน ให้เราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมะ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลายประทานแล้ว
ถึงที่เราต้องการถึงมรรคผล ถึงสามัญผลใดๆ ที่เราต้องการ หากว่าเรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง คือเรายังไม่ถึงโลกุตตระ เราก็ยังสามารถที่จะได้มาซึ่งโลกิยะ ในส่วนที่เป็นฌาน เป็นสมาบัติ หรือเป็นอภิญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
เอาละ ท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้ชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติทั้งด้านพระวินัย คืออยู่ปริวาสกรรมและก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอจะเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายได้แล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

ที่มา : http://www.watpitchvipassana.com/vipassana-67-how-to-practice-the-dharma-1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น