วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก


ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก
ขอเตือนสติท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งโดยย่อ คือ การฟังการบรรยายธรรม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามประคับประคองจิตให้ดำเนินไปตามธรรมะที่บรรยายจริงๆ คือต้องใคร่ครวญตริตรองพิจารณาให้รู้เนื้อหาสาระของธรรมะ เพื่อจะทำให้การฟังนั้นเข้าใจ เพราะธรรมะบางข้อบางประการนั้น เราฟังเผินๆก็ไม่เข้าใจ ต้องใคร่ครวญ ตริตรองพิจารณาจริงๆ จึงจะเข้าใจ
แต่ว่าธรรมะนั้น บางประการก็เป็นธรรมะเผินๆ เป็นธรรมะที่เหมาะสมแก่ญาติโยมชาวบ้านที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ตลอดถึงบรรดาลูกเณรทั้งหลายที่ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมใหม่ๆ
แต่ธรรมะบางข้อบางประการก็สลับซับซ้อน ผู้ที่จะเข้าใจก็ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานานพอสมควรจึงจะเข้าใจ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าเราตั้งใจจดจ่อต่อกระแสธรรมะที่บรรยาย ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ผลสุดท้ายก็จะรู้เอง
เหมือนเมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อยังเป็นพระบวชปีแรก มีความสงสัยธรรมะเป็นบางสิ่งบางประการ แต่เวลาไปกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ปกครองหรือผู้เป็นครูบาอาจารย์ แทนที่จะได้รับความเห็นใจ แทนที่ท่านจะบรรยายให้ฟัง แก้ข้อข้องใจให้เราฟัง ก็ถูกท่านเอ็ดเอา ว่าเอา ด่าเอาว่า เรานี้ไปสอนครูบาอาจารย์ อวดรู้ อวดดี อะไรทำนองนี้
ต้องใช้เวลาค้นคว้าทางการประพฤติปฏิบัติ หาดูในตำรับตำรา อ่านพระไตรปิฎก ไม่พบก็ต้องมาใช้แรงของสมถะของวิปัสสนา ผลสุดท้ายปัญหาที่ข้องใจสงสัยมานานเป็นแรมๆ ปี เป็นตั้งสิบปี ยี่สิบปี ก็สามารถคลี่คลายปัญหานั้นได้
เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ส่งใจไปตามพระธรรมที่ได้นำมาบรรยาย ถึงจะรู้บ้าง หรือไม่รู้บ้าง แต่เราตั้งใจฟังจริงๆ ผลสุดท้ายความเคลือบแคลงสงสัยก็จะหมดไปเอง
สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก มาบรรยาย เพื่อเป็นการประดับสติปัญญาของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
คือ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อก็คิดว่าจะนำเอาธรรมะที่เราควรจะละจะเลิกจะลดจะทำลาย ให้มันสูญสิ้นไปจากขันธสันดานของเรา มาบรรยายเพื่อจะให้เราได้รู้ได้ทราบว่า อกุศลธรรมเหล่านี้ หรือบาปธรรมเหล่านี้ หรือกิเลสที่ลามกเหล่านี้ ยังมีในจิตในใจของเราอยู่(หรือไม่) ถ้าเห็นว่ายังมีอยู่ เราก็จะได้หาโอกาส หาเวลาชำระสะสางล้างให้หมดจากจิตจากใจของเรา เท่าที่โอกาสและเวลาจะอำนวย เท่าที่บุญวาสนาบารมีของเราจะทำได้
ร่างกาย ซึ่งท่านเปรียบด้วยจอมปลวกนั้น เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ธรรมดาจอมปลวกย่อมคายสัตว์ต่างๆออกมา เช่น ตัวปลวกบ้าง งูบ้าง พังพอนบ้าง เป็นต้น ฉันใด แม้ร่างกายของคนทั่วๆไปในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ย่อมคายของโสโครกออกมา เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน และตัวพยาธิปากขอ ต่างๆ ออกมาจากร่างกาย เหมือนกันฉันนั้น
แต่คำว่า คาย ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าคายออกจากปากเท่านั้น หมายความว่า คายออกจากร่างกายทั่วไป เพราะร่างกายทั้งสิ้นเป็นเหมือนกันกับปากแผลทุกๆ แห่งไป ที่เห็นได้โดยง่าย คือ ทวารทั้ง ๙ และรูขุมขน สิ่งโสโครกต่างๆ ย่อมไหลออกจากทวารทั้งเก้า และรูขุมขนเสมอเป็นนิจ สมกับพระพุทธภาษิตที่พระองค์ทรงตรัสไว้แก่นางเขมา ว่า

อาตุรํ อสุจึ ปูตึปสฺส เขเม สมุสฺสยํ
อุคฺฆรนฺตํ ปคฺฆรนฺตํพาลานํ อภินนฺทิตํ.[1]





เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาด เน่าใน ไหลเข้าไหลออกอยู่เป็นนิจ แต่คนพาลมีจิตปรารถนายิ่งนัก ดังนี้
ประการที่ ๒ ตัวปลวกทั้งหลายย่อมช่วยกันคาบเอาดินมาคายออก ก่อให้สูงขึ้นประมาณเพียงบั้นเอวบ้าง เพียงศีรษะบ้าง หรือต่ำสูงเกินกว่าที่กล่าวมาแล้วบ้าง ตามแต่กำลังของตัวปลวก หรือสถานที่ปลวกขนเอาดินมาก่อไว้ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของบุคคลในโลกนี้ก็ฉันนั้น คือ ย่อมก่อร่างสร้างตัว หาอาหารมาบำรุงบำเรอโดยรอบด้าน เพื่อให้เติบโตขึ้นไปโดยลำดับๆ เพราะร่างกายนี้ยังเป็นที่คายความรักใคร่ของพระอริยะเจ้าออกให้หมดสิ้น พระอริยะเจ้ามิได้มีความรักใคร่ใยดีในร่างกายเลย เหตุนั้น ท่านจึงเปรียบเทียบให้เห็นว่าจอมปลวกนั้น ได้แก่ ร่างกาย
ประการที่ ๓ ตัวปลวกที่ขนดินมาก่อนั้น ย่อมคายยางเหนียวคือน้ำลายของมันออกทำเป็นน้ำเชื้อสำหรับทำให้ดินเหนียว ส่วนมนุษย์เราเมื่อจะทำดินเหนียวสำหรับทำภาชนะสิ่งของต่างๆ มีปั้นหม้อ ปั้นอิฐ หรือกระเบื้อง เป็นต้น ย่อมใช้น้ำท่าหรือน้ำยาประสมดินขยำดินให้เหนียวก่อนจึงทำเป็นสิ่งนั้นๆ ได้ ส่วนปลวกไม่มีปัญญาที่จะทำเหมือนมนุษย์เราได้ จึงต้องใช้น้ำลายต่างน้ำท่าหรือน้ำยา โดยเหตุนี้ ดินภายในจอมปลวก หรือดินที่ปลวกกำลังก่อขึ้นมาใหม่นั้นจึงเหนียว ข้อนี้ฉันใด
ร่างกายของมนุษย์ทุกมุมก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมเกลือกกลั้วไปด้วยของสกปรก ปฏิกูล น่ารังเกียจ ย่อมคายน้ำลายออกผสมกับอาหารในเวลาเรารับประทานอาหาร คือในขณะที่เรารับประทานอาหาร จะเป็นอาหารชนิดใดก็ตามที่เราวางลงไว้บนลิ้นแล้วก็เคี้ยวอาหาร
ในขณะที่เราเคี้ยวอาหารนั้น ถ้าว่าน้ำลายเราไม่มีมาผสมกับอาหาร การเคี้ยวอาหารไม่สามารถที่จะเคี้ยวได้ ไม่สามารถที่จะกลืนลงไปได้ แต่สำหรับอาหารที่เราเคี้ยวนั้น มีอาการเหลวนั้น ก็เพราะอาศัยน้ำลายซึ่งเยิ้มอยู่ใต้ลิ้นมาผสมกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป และก็ในขณะที่เราเคี้ยวอยู่ น้ำลายเหล่านั้นก็มาผสมกับอาหาร จึงทำให้อาหารมีอาการเหลว ในขณะที่รับประทานอาหารอยู่นั้น น้ำลายก็ผสมกับอาหารทำให้อาหารมีอาการเหลวแล้วส่งไปเลี้ยงร่างกาย
อีกอย่างหนึ่ง ร่างกายนี้ยังเป็นที่คายสิ่งหลอกลวงออกแห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย คือ สิ่งที่หลอกลวงสัตว์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงติดอยู่ อันมีอยู่ในร่างกายที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกสามร้อยท่อน หุ้มด้วยหนัง ตรึงมัดด้วยเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ชุ่มอยู่ด้วยโลหิต ฉาบไล้ด้วยผิวหนังตลอดถึงอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรืออวัยวะต่างๆ มีหน้า มีตา มีแขน มีขา มีมือ มีเท้า เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเครื่องหลอกลวงให้สัตว์บุคคลหลงรักใคร่เกลียดชัง บางทีก็รักสิ่งนั้น บางทีก็เกลียดสิ่งนั้น หรือรักทั้งหมด บางทีเกลียดทั้งหมด ในส่วนที่มีอยู่ในร่างกาย
ส่วนพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ย่อมคายเสีย ถอนเสีย ละเสีย ซึ่งสิ่งหลอกลวงทั้งสิ้นนั้น มีอาการปานประหนึ่งจอมปลวกอันเป็นที่คายน้ำลายของปลวกทั้งหลายออกมาฉันนั้น
ประการที่ ๔ ดินในจอมปลวก เมื่อเอามาขยำด้วยมือบีบคั้นให้แรงๆ ย่อมมียางไหลออก มีอาการเหนียวคล้ายกับน้ำเชื้อสำหรับปั้นอิฐ ยางเหนียวนั้นเกิดจากน้ำลายของตัวปลวก ฉันใด ร่างกายของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วสากลโลกนี้ก็ฉันนั้น
เพราะร่างกายนี้เต็มไปด้วยยางเหนียวคือตัณหาทั้ง ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภวตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในความอยากมีอยากเป็นในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในความไม่อยากมีในความไม่อยากเป็น ความทะยานอยากในอรูปภพ
ร่างกายเรานี้เต็มไปด้วยยางเหนียว ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วก็คายตัณหาทั้งสามประการนี้ออกไป หารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาธรรมารมณ์ อยู่เสมอๆ แล้วก็ผูกมัดรัดรึงตรึงสรรพสัตว์ไว้ ให้ติดอยู่ในวัฏสงสารหรือสังสารวัฏตัดไม่ขาด ทำให้ลุ่มหลง ทำให้หมุนเวียนอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารตลอดกาลอันยืดยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้
ส่วนพระอริยะเจ้าทั้งหลาย อาศัยกายนี้คายยางเหนียวเหล่านั้นออก คือละยางเหนียวเสียได้ ไม่หลงใหลติดอยู่ เพราะท่านมีปัญญาฉลาดเฉลียว สามารถละยางเหนียวคือตัณหาทั้ง ๓ ประการ ซึ่งได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งมัคคญาณ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ารู้ในสกนธ์กายอันมีอุปมากับจอมปลวกนี้อีกมาก ธรรมดาว่าจอมปลวกย่อมมีลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. ปสูติฆรสถาน เป็นที่เกิดแห่งปาณกชาติทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายก็เป็นที่เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน ฉันนั้น คือสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเกิดอาศัยอยู่ในผิวหนังบ้าง อาศัยอยู่ในหนังบ้าง อาศัยอยู่ในเนื้อบ้าง อาศัยอยู่ในเส้นเอ็นบ้าง อาศัยอยู่ในกระดูกบ้าง
สัตว์เหล่านั้นได้แก่ กิมิชาติ คือหมู่หนอนประเภทต่างๆ จะเป็นร่างกายของคนยากจนเข็ญใจก็ตาม จะเป็นร่างกายของคนมั่งมีก็ตาม จะเป็นร่างกายของคนผู้ดีก็ตาม จะเป็นร่างกายของไพร่ฟ้าประชาชนก็ตาม จะเป็นร่างกายของพระราชามหากษัตริย์ก็ตาม จะเป็นร่างกายของผู้มีอานุภาพสักปานใดก็ตาม ย่อมเป็นปสูติฆรสถาน คือเรือนเป็นที่เกิดของหมู่หนอนเหมือนกันทุกประเภท มิได้มีพิเศษแตกต่างกันเลยแม้แต่คนเดียว อันนี้ก็เป็นอุปมาข้อที่หนึ่ง
คือหมายความว่า ร่างกายของสัตว์โลกทั้งหลายนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หรือว่าเป็นคนมั่งมี เป็นคนผู้ดี เป็นไพร่ฟ้าประชาชน เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือเป็นผู้มีอานุภาพมากสักปานใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นที่เกิดของหมู่หนอนทั้งหลายซึ่งอยู่ในร่างกายแต่ละส่วนๆ ตลอดถึงเนื้อ หนัง กระดูก และไส้ใหญ่ ไส้น้อย ตลอดถึงเกิดตัวพยาธิต่างๆ ขึ้นในร่างกายของตน ไม่ยกเว้น
เหตุนั้น ร่างกายนี้ท่านจึงอุปมาเหมือนกันกับปสูติฆรสถาน คือเป็นที่เกิดของบรรดาหมู่หนอนและตัวพยาธิทั้งหลายซึ่งมีในร่างกาย
๒. วัจจกุฎี ธรรมดาจอมปลวก ย่อมเป็นวัจจกุฎีที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะของสัตว์ทั้งหลาย มีตัวปลวก เป็นต้น ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นวัจจกุฎีที่ถ่ายมูตรคูถแห่งหมู่หนอน ฉันนั้นเหมือนกัน คือหมายความว่า ท่านอุปมาเหมือนกันกับวัจจกุฎีอันหนึ่ง
ร่างกายของเรานี้ อุปมาเหมือนกับวัจจกุฎี ถ้าภาษาโบราณเรียกว่า ถาน ในสมัยนี้เขาเรียกว่า ห้องน้ำหรือห้องสุขา ร่างกายของเรานี้ก็เป็นห้องสุขาอันหนึ่ง แต่ห้องสุขาคือร่างกายของเรานี้ เป็นที่ถ่ายออกซึ่งอุจจาระปัสสาวะของหมู่หนอนต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย ตลอดถึงตัวพยาธิต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย มันจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เหตุนั้น ร่างกายอันยาววาหนาคืบของร่างกายของเรานี้ จึงอุปมาเหมือนกับวัจจกุฎี
๓. คิลานศาลา ธรรมดาจอมปลวกย่อมเป็นโรงพยาบาลหรือโรงเจ็บป่วยของหมู่ปลวกทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นคิลานสถาน คือที่เจ็บป่วยของหมู่หนอน ฉันนั้นเหมือนกัน คือหมายความว่า เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องอาศัยอยู่ในจอมปลวก ข้อนี้ ฉันใด ร่างกายของเรานี้ก็เป็นโรงพยาบาล ถือว่าเป็นโรงพยาบาลของหมู่หนอนทั้งหลายซึ่งอยู่ในร่างกาย เป็นโรงพยาบาลของตัวพยาธิทั้งหลายที่อยู่ในร่างกายของพวกเรา
๔. สุสานสถาน ธรรมดาจอมปลวกย่อมเป็นป่าช้าของตัวปลวกทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายนี้ย่อมเป็นสุสานสถาน คือป่าช้าของหมู่หนอนและสัตว์ทั้งหลายอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้ ของที่เรารับประทานเข้าไป มีพวกเนื้อพวกวัวบ้าง พวกสุกรบ้าง พวกเป็ดไก่บ้าง พวกกุ้งหอยปลาบ้าง เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะคำนวณได้ว่ามีสัตว์ประเภทไหนบ้าง สัตว์เหล่านั้นตายเพราะปากของเรา สัตว์ทั้งหลายตายเพราะท้องของเรา
สัตว์ทั้งหลาย ตายเพราะปากเพราะท้องของมนุษย์แต่ละคนนี้ ประมาณเท่าไร เราคำนวณไม่ได้ ดังนั้น ร่างกายของบุคคล ท่านจึงเปรียบไว้ว่า เป็นเหมือนกันกับป่าช้าอันเป็นที่ฝังศพ ฉันนั้น คือร่างกายของเรานี้เป็นป่าช้าสำหรับฝังศพของสัตว์ทั้งหลาย บางครั้งก็ต้องเอาวัวมาฝัง บางทีเอาสุกรมาฝัง บางทีก็เอาเป็ดเอาไก่มาฝัง บางทีก็เอาหอยเอากุ้งเอาปลามาฝัง บางทีเอาแมลงต่างๆ มาฝัง
สรุปแล้วว่า ร่างกายนี้เป็นป่าช้า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจน่าสะอิดสะเอียน แต่ถ้าหากว่า ผู้มีสติปัญญาพิจารณาเกิดปัญญาแล้ว จะรู้จักถือเอาประโยชน์ในร่างกายซึ่งอุปมาเหมือนกันกับป่าช้านี้มาเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะบรรลุถึงที่หมายปลายทางได้
สมมติว่าท่านทั้งหลาย บางท่านอาจจะเป็นพวกราคจริตอย่างนี้ พวกราคจริตมีความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามอย่างแรงกล้า หากเมื่อใดเรามาพิจารณาร่างกายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็สามารถที่จะผ่อนคลายราคะความกำหนัดนั้นให้เบาบางลงได้ บางทีก็สามารถจะทำลายให้หมดสิ้นไปเลย
โดยเหตุผลทั้ง ๔ ประการนี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก
อีกประการหนึ่ง ร่างกายหรือรูปนามนี้ นอกจากจะเป็นปสูติฆรสถาน คือเป็นที่เกิดแห่งปาณกชาติคือหมู่หนอนทั้งหลายและตัวพยาธิทั้งหลายแล้ว ยังเป็นปสูติฆรสถาน เรือนอันเป็นที่เกิดของบาปทั้งหลาย คือบาปทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็อาศัยอยู่ในร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นปสูติฆรสถาน คือที่เกิดของความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน
สรุปแล้วว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เมื่อจะเกิดก็เกิดที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นปสูติฆรสถาน คือที่เกิดของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด แต่วันนี้จะนำมาบรรยายเฉพาะบาปคือความโกรธ
ความโกรธนี้ ถ้าคิดอีกอย่างหนึ่ง ควรที่จะเรียงไว้เบื้องหน้า เพราะว่าคนเราทั้งหลายนั้น ที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ โดยมากนั้นเกิดเพราะอำนาจของโทสะคือความโกรธ สำหรับโลภะก็ดี สำหรับโมหะก็ดี ถึงจะมีฤทธิ์มีอำนาจอย่างแรงกล้า แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้จิตใจของเราทั้งหลายร้อนเท่าใดนัก ไม่สามารถจะทำให้คนทะเลาะวิวาท บาดหมาง ผิดใจกัน เถียงกัน เท่าใดนัก ไม่สามารถจะทำให้ระหว่างหมู่คณะตลอดถึงญาติต่อญาติทะเลาะวิวาทบาดหมางกันเท่าใดนัก
แต่สำหรับโทสะนี้ หากว่าเกิดขึ้นในกลุ่มใด คณะใด หรือเกิดขึ้นในบ้านใด วัดใด ตำบลใด อำเภอใด ประเทศใด หรือระหว่างประเทศต่อประเทศ ก็จะเกิดทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เกิดสงครามประหัตประหารกันทันที
เหตุนี้เอง วันนี้ หลวงพ่อจึงจะได้น้อมนำมาเฉพาะเรื่องความโกรธ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป
ความโกรธ ก็เกิดขึ้นที่ปสูติฆรสถาน คือร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจไว้ ความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน มีลักษณะเป็นอันเดียวกัน แต่ว่าหนักเบากว่ากันเท่านั้น หรือมีลักษณะต่างกันนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น
ถ้าจะพูดโดยอรรถแล้ว เหมือนกัน แต่ถ้าจะพูดโดยพยัญชนะแล้วต่างกัน แต่ที่จริงแล้วก็อันเดียวกันนั่นหละ ความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน คือจะมีความขุ่นใจ มีลักษณะพองขึ้น เหมือนกันกับอึ่งอ่าง ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง คือความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน มีความขุ่นใจ มีลักษณะพองขึ้น เหมือนกับอึ่งอ่าง โดยอธิบายว่า อึ่งอ่างก็ดี กบก็ดี เวลาร้องย่อมพองตัวโตขึ้นกว่าปกติแล้วร้องอวดเสียงของตนด้วย
เหยี่ยว หรือกา หรืองู หรือตะขาบ เป็นต้น หรือคนได้ยินเสียง ย่อมพากันจับเอามากินเป็นอาหาร อึ่งอ่างหรือกบหรือเขียดนั้น ย่อมตายเพราะมือและปากของข้าศึกเพราะความพองและเสียงของตน ฉันใด ความโกรธก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้น จะทำให้บุคคลตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉันนั้น
เมื่อความโกรธเริ่มเกิดขึ้น ย่อมทำให้ฮึกเหิม เบ่งกำลังกายเบ่งกำลังใจขึ้นอย่างผิดปกติ ถ้าห้ามไม่หยุดย่อมปรากฏออกมาทางตา ทางปาก ทางมือ ทางเท้า คือหน้าสยิ้วคิ้วขมวด ตาพราว ปากก็พูดคำหยาบด่าว่า มือคว้าไม้ศัสตราอาวุธ เท้าขยับออกย่าง เป็นต้น เมื่อห้ามไม่ฟังในขณะนั้น ก็ย่อมลงมือประหารผู้อื่น
บางทีก็เกิดการต่อสู้กันขึ้น ทำให้บุคคลผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ ตกอยู่ในเวรภัยโทษทัณฑ์อาญามีประการต่างๆ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายอย่าง เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ต้องได้รับโทษทุกข์ในอบายภูมิต่างๆ นานาประการ
ขอให้ท่านทั้งหลายได้คิดว่า คนทั้งหลายที่ถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะรางตลอดชีวิตก็ดี ถูกประหารชีวิตก็ดี ก็เพราะอำนาจของความโกรธนี้ มีไม่น้อยเลยเหมือนกัน
เหตุนั้น ความโกรธนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าว่าเราระงับไม่ไหว ผลที่ได้รับก็คือโทษทุกข์อย่างเดียว คืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้จิตใจของเราเป็นทุกข์ เกิดความเดือดร้อน เหมือนกับไฟเผาไฟไหม้อยู่ในจิตในใจ เหมือนกับถูกไฟสุมอยู่ในจิตในใจ ไม่รู้จักสร่างจักเย็นลงไปได้ ถ้าเป็นไปอย่างแรงกล้า ก็ทำการประหัตประหารกันทำร้ายร่างกายกัน ผลที่ได้รับ ก็คือถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ เหมือนกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็มีนรกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
เป็นอันว่า ความโกรธให้โทษ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แต่สำหรับผู้อื่นย่อมได้รับโทษเพียงถูกด่า ถูกว่า ถูกทุบตี ถูกฆ่า ถูกฟัน หรือถูกบั่นทอนชีวิต ให้สิ้นไปเท่านั้น หรือบางทีก็ถูกล้างผลาญทรัพย์สมบัติให้พินาศไปในปัจจุบันนี้เท่านั้น
ส่วนผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ย่อมได้รับโทษทั้งชาตินี้และชาติหน้า อย่างน้อยที่สุด แม้เพียงโกรธอยู่ในใจ ก็ทำให้เสียคุณธรรมลงไปแล้ว ให้หมดคุณธรรมไปแล้ว คือทำให้หมดเมตตา ทำให้หมดกรุณา ทำให้หมดมุทิตา ทำให้กำลังของสมถะและวิปัสสนาเสื่อมลงไปได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
รวมความตามบรรยายมานี้ชี้ให้เห็นว่า ความโกรธมีอาการทำให้ใจและกายพองขึ้น เหมือนกันกับอึ่งอ่างหรือกบเขียดในเวลาร้อง ฉันนั้น
ความโกรธ[2] มี ลักษณะ รส หน้าที่ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ชิด ดังนี้
๑. จณฺฑิกฺกลกฺขโณ ความโกรธมีความดุร้ายเป็นลักษณะ เหมือนกันกับอสรพิษที่ถูกตี ฉันนั้น เราทั้งหลายลองนึกดูว่า สมมุติว่า หมาบ้าอย่างนี้ เวลาถูกเราตีนั้น มันจะต่อสู้ทันที หรือมิฉะนั้น พวกงูพิษ เมื่อถูกเราตี มันจะต่อสู้ทันที หรือพวกราชสีห์ พวกเสือ ถ้าถูกเราตีเราเฆี่ยนมันจะต่อสู้ขึ้นมาทันที ข้อนี้ฉันใด
พวกโทสะก็เหมือนกัน จะมีความดุร้ายเป็นลักษณะ เหมือนกับอสรพิษที่ถูกตี เมื่อกระทบอะไรนิดอะไรหน่อยก็จะทำอาการต่อสู้ขึ้นมาทันที บางทีต้องด่ากัน บางทีต้องตีกัน ประหัตประหารกัน บางทีต้องแทงกัน บางทีต้องยิงกัน อะไรทำนองนี้ ที่พวกเราทั้งหลายได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะตัวโทสะนี้เป็นเหตุ
๒. วิสปฺปนรโส ความโกรธมีความพลุ่งพล่านเป็นรส เปรียบเหมือนกันกับยาพิษที่ใส่ลงไปในน้ำ แล้วแผ่ซ่านไปในน้ำนั้น ทำให้สัตว์ที่มากินถึงแก่ความตายได้ อุปมาเหมือนกันกับว่า อันนี้เป็นโอ่งน้ำ เราเอายาดีดีทีก็ดี ยาโพลิดอนก็ดีใส่ลงไป ยานั้นจะแพร่ไปในน้ำ ทำให้น้ำนั้นมีพิษได้
สมมติว่า น้ำฝนทั้งถังนี้ เป็นน้ำที่สะอาดและก็บริสุทธิ์ เราดื่มกินได้ แต่ถ้าเอายาพิษเจือลงไป ยาดีทีทีก็ดี โพลิดอนก็ดี เจือลงไปในถังน้ำนี้ ท่านนักปฏิบัติคิดดูสิว่าจะเป็นอย่างไร น้ำนี้ก็พลอยเป็นน้ำที่มีพิษทันที ใครไปดื่มกินก็ถึงแก่ความตายได้ ข้อนี้ฉันใด
ความโกรธก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แพร่ไปทั่วสรรพางค์กาย ผู้ใดไปล่วงเกินขณะที่ความโกรธของเขากำลังเดือดพล่านอยู่นั้น ผู้นั้นอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ อาจถูกเขาฆ่าตาย อาจถูกเขาด่า อาจถูกเขาว่า อาจถูกเขาตี อาจถูกเขาฆ่าตายก็ได้ เหตุนั้น ความโกรธนี้ ท่านจึงกล่าวว่ามีความพลุ่งพล่านเป็นรส
๓. อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส ความโกรธมีอาการแผดเผานิสัยของตนเป็นหน้าที่ เปรียบเหมือนกันกับไฟป่าที่กำลังเผาป่าให้ไหม้เป็นจุณๆ ไปฉันนั้น คือหมายความว่าความโกรธนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเปลี่ยนนิสัยของบุคคลทันที เรามองดูเผินๆ จะเห็นว่าเขาเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอสุภาพและเยือกเย็นดี แต่ในขณะใดถูกความโกรธเข้าครอบงำเป็นทาสของความโกรธแล้ว ก็จะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที ด้วยอำนาจของความโกรธ เมื่อแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาแล้ว เขาคนนั้นก็สามารถที่จะทำลายสิ่งที่มากีดขวางให้พินาศอันตรธานไป ให้สิ้นไป สูญไป หมดไป เหมือนกันกับไฟป่าที่ไหม้ป่าหรือเผาป่าให้เกรียมไปฉะนั้น
๔. ทุสฺสนปจฺจุปฏฺฐาโน ความโกรธนั้น มีความประทุษร้ายเป็นอาการปรากฏ เหมือนกันกับข้าศึกผู้ได้โอกาสฉะนั้น ธรรมดาข้าศึกรบกัน ถ้าฝ่ายใดมีอำนาจมีพลังมีความฉลาดเพียงพอ พอดีข้าศึกฝ่ายตรงกันข้ามเสียหลักไปนิดหนึ่งเท่านั้นล่ะ เขาก็จะโหมเข้าทันที เขาก็สามารถทำลายข้าศึกได้
หรืออุปมาเหมือนกันกับนักมวยที่เขาชกกัน นักมวยที่ชกกันนั้น ระหว่างคู่ต่อสู้นั้น หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งเห็นคู่ต่อสู้นั้นเสียหลัก เขาก็จะกระโดดเข้าใส่ และทำร้ายทันที ผลสุดท้าย คู่ต่อสู้ก็ต้องพ่ายแพ้ไป ข้อนี้ฉันใด ความโกรธก็เหมือนกันฉันนั้น
เมื่อใด ความโกรธเกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว หากว่ามีผู้ใดเป็นข้าศึกแสดงอาการเป็นข้าศึก หรือแสดงทางกาย ทางวาจา ทางใจ ออกมาให้เขาเห็น และก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเขา เขาจะเข้าทำร้ายทันที ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน บางทีก็คบกันมาตั้งแต่โน้น ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ๑๕ ปี จนอายุ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาเลย แต่เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำในขณะใด ผู้นั้นก็สามารถทำลายมิตรนั้นให้พินาศอันตรธานไปได้
๕. อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน อีกอย่างหนึ่ง ความโกรธนั้นมีอาการอาฆาตวัตถุสิบประการเป็นเหตุใกล้ชิดที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น โทสะนี้เปรียบเหมือนน้ำมูตรเน่าที่เจือด้วยยาพิษ และเปรียบเหมือนก้อนเหล็กแดงที่กำลังลุกโชนอยู่ ผู้ที่กำลังโกรธก็เปรียบเหมือนผู้ที่กำลังจับมูตรเน่าเจือยาพิษ และเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังจับก้อนเหล็กแดง ฉันนั้น
เหตุให้เกิดความโกรธนั้นมีอยู่ถึง ๕ ประการ คือ
๑. โทสชฺฌาสยตา มีโทสะเป็นอัธยาศัยมาแต่กำเนิด
๒. อคมฺภีรปกติตา มีความคิดไม่ละเอียดไม่ลึกซึ้งเป็นปกติ ขาดโยนิโสมนสิการ ขาดการใคร่ครวญตริตรองพิจารณาหาเหตุผล ไม่ได้คิดถึงโทษความโกรธที่เกิดขึ้น ผลสุดท้าย ก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจลงไปได้ ความโกรธก็เกิดขึ้นมาทันที
๓. อปฺปสุตฺตา มีการศึกษามีการสดับรับฟังน้อย เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ไม่มีความรู้ที่จะมายับยั้งความโกรธได้ ก็เป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้นมา
๔. อนิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีอยู่เนืองๆ คือได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แต่ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่น่าชอบใจ ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความโกรธขึ้น
๕. อาฆาตวตฺถุสมาโยโค[3] ได้ประสบกับอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการเนืองๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
อาฆาตวัตถุ คือ มูลเหตุให้ผูกอาฆาตกันนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา แล้วก็เป็นเหตุให้คาดคิดอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความโกรธขึ้นมา
๒. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๓. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๔. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๕. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๖. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๗. ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๘. ความอาฆาตความโกรธเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำประโยชน์ให้แก่คนผู้ที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๙. ความอาฆาตความโกรธเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๑๐. ความอาฆาตเกิดขึ้นโดยฐานะอันไม่สมควร เช่น เมื่อเดินไปสะดุดตอไม้ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ข้อนี้พวกเราทั้งหลายเป็นกันเกือบทุกรูปทุกนามนะ บางทีไปเหยียบเสี้ยนเหยียบหนามอย่างนี้ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว
บางทีเดินเข้าประตู เดินออกประตู ไปชนกับประตูขอบประตู ไปชนกับขอบหน้าต่าง เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว บางทีได้พร้าโต้มา ก็ฟันประตูจนพังไปก็มี บางทีเห็นว่าหม้อเขาเอาไว้ไม่ดี ไปทุบหม้อทุบโอ่งน้ำแตกก็มี บางทีวิทยุฟังอยู่ดีๆ ขวานทุบลงไปแตกก็มี นี้เรียกว่า เกิดขึ้นในฐานะที่ไม่สมควรเกิด บางทีไปโดนของแตก แล้วก็เกิดความโกรธขึ้นมาเป็นต้น อันนี้เราทั้งหลายคิดให้กว้างๆ คิดให้ซึ้งๆ เราจะเห็นทันที มันไม่น่าจะโกรธก็โกรธขึ้นมา เพราะเหตุใด เพราะว่า ความโกรธมันมีอยู่ในจิตในใจแล้ว
ดังหลวงพ่อได้บอกแล้วว่า ร่างกายนี้เป็นปสูติฆรสถาน คือเป็นที่อยู่ของความโกรธด้วย ความโกรธมันไปนอนอยู่ในจิตในใจของเรา ไม่รู้ว่าแต่เมื่อไหร่ พอดีกระทบอะไรนิดๆหน่อยๆ ซึ่งไม่สมควรโกรธ มันก็โกรธขึ้นมา บางครั้งเราเขียนหนังสืออย่างนี้ ปากกาเขียนหนังสือ ดินสอดำมันออกไม่ดี ปากกามันออกไม่ดี เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ทุบปากกานั้นแตกไปเลย มันเป็นอย่างนี้
บางทีดื่มน้ำไป อ้อ น้ำมันร้อนเกินไป มันไปทำให้ลิ้นเราร้อนเกินไป ไปลวกลิ้นของเรา ทุบแก้วทิ้งก็มี บางทีเดินไปโดนโน้นโดนนี้ เขาเก็บไม่ดีเขาวางไม่ดี ทุบแตกเลยก็มี อันนี้เรียกว่า ความโกรธเกิดขึ้นโดยฐานะที่ไม่สมควรโกรธ แต่ทำไมมันถึงโกรธ สาเหตุที่มันจะโกรธเพราะว่า โทสะตัวนี้มันไปนอนอยู่ในขันธสันดานของเรามาแล้วตั้งนมตั้งนาน ตั้งแต่อ้อนแต่ออกโน้น มันเป็นอนุสัยกิเลสติดตามมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน จนมาถึงภพนี้ชาตินี้ด้วย มันสั่งสมอยู่นานแล้ว มันมีอานุภาพมีพลังอยู่นานแล้ว เมื่อมันได้โอกาสได้เวลาเมื่อใดก็แสดงอาการขึ้นมาทันที
ความโกรธเกิดขึ้นแล้วให้โทษเป็นอเนกประการ เช่น
๑. ทำให้คนประพฤติชั่วทางกาย เช่น ฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เป็นต้น
๒. ทำให้คนประพฤติชั่วทางวาจา เช่น ด่ากันบ้าง ส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นเถียงกันทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง ด่าผู้อื่นให้เจ็บใจบ้าง พูดสิ่งที่ไร้สาระประโยชน์บ้าง เป็นต้น
๓. ทำให้คนประพฤติชั่วทางใจ เช่น พยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญเขาบ้าง
๔. ทำลายประโยชน์ตน ทำลายประโยชน์ผู้อื่น
๕. ทำลายประโยชน์ภพนี้ ทำลายประโยชน์ภพหน้า
ดังตัวอย่าง พระนางโรหิณี มีเรื่องเล่าไว้ในธัมมปทัฏฐกถาว่า
พระนางโรหิณี ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านพระอนุรุทธะนี้ เป็นโรคผิวหนัง คือเป็นโรคผิวหนังเกิดขึ้นตามสรีระร่างกายของตน มีความละอายจนไม่กล้าออกมารับแขก ไม่กล้ามาให้คนอื่นเห็นตนเอง ส่วนพี่ชายของพระนางคือท่านพระอนุรุทธะได้สั่งให้นางขายเครื่องประดับ ราคา ๑๐,๐๐๐ กหาปณะ และก็สั่งให้นำทรัพย์จำนวนนั้นไปสร้างโรงฉัน ๒ ชั้น
ในขณะที่กำลังสร้างโรงฉันยังไม่เสร็จนั้น ท่านพระอนุรุทธเถระผู้พี่ชายให้นางปูอาสนะไว้เสมอ พร้อมทั้งให้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้ นางเป็นผู้ปัดกวาดตามพื้นเป็นต้นเนืองๆ คือพยายามทำความสะอาดพื้นที่โรงฉันของตนเนืองๆ เมื่อนางทำบุญมีการกวาดพื้นโรงฉันอยู่เนืองๆ โรคผิวหนังได้หายไปจนหมดสิ้น บ้านเราว่า เซาเป็นขี้ทูด เซาเป็นขี้หิด (หายจากโรคเรื้อน หายจากหิด)
เมื่อโรงฉันได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ถวายขาทนียะโภชนียะอันประณีตแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั่งเต็มโรงฉัน พระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงตรัสถามว่า นี้เป็นทานของใคร คือในขณะที่ถวายทานนั้น นางโรหิณีไม่ได้มาถวายทาน เพราะมีความละอาย สาเหตุที่ตนเป็นโรคผิวหนัง และก็มีความละอาย ไม่กล้าออกมาสู่ท่ามกลางของพวกแขก
เมื่อฉันเสร็จแล้วพระองค์จึงได้ตรัสถามหาว่า นี้เป็นทานของใคร ท่านพระอนุรุทธะก็กราบทูลว่า เป็นทานของนางโรหิณีซึ่งเป็นพระน้องนางของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้เรียกนางโรหิณีมา แต่พระนางไม่ปรารถนาจะมา แต่ก็จำเป็นต้องมา เพราะว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียก และจะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรๆ ถึงมีความละอายอย่างไร พระนางก็ต้องมา
เมื่อพระนางเสด็จมาถวายบังคม ประทับนั่งแล้ว พระองค์จึงตรัสถามว่า โรหิณี เหตุใดเธอจึงไม่มา พระนางทูลตอบว่า หม่อมฉันเป็นโรคผิวหนัง มีความละอายเพราะโรคนั้น จึงมิได้มา
พระศาสดาตรัสว่า เธอรู้ไหมว่า โรคนั้นอาศัยกรรมอะไรของเธอจึงได้เกิดขึ้นเช่นนี้ พระนางโรหิณีกราบทูลว่า หม่อมฉันไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า โรคนั้นอาศัยความโกรธของเธอจึงเกิดขึ้น หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้พระพุทธเจ้าข้า พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า
ดูกร โรหิณี ในอดีตกาลนั้น อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ผูกอาฆาตหญิงนักฟ้อนของพระราชา ทรงดำริว่า เราจะให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่หญิงนั้น แล้วให้เขาเอาลูกเต่าร้างใหญ่มา (ลูกเต่าร้างนั้นไม่มีในบ้านเรานะ ลูกเต่าร้างนั้นมันต้นคล้ายๆกับต้นหมาก ผลก็เหมือนกับผลหมาก แต่ผลโตกว่า เมื่อลูกแก่ๆ ขึ้นมาก็เหมือนกับตำแยบ้านเรา หรือทางภาคกลางเรียกว่าหมามุ่ย แต่หมามุ่ยนั้นเป็นฝัก แต่ลูกเต่าร้างนี้มันเป็นผลเหมือนกับผลหมาก มีพิษสงเหมือนกันกับหมามุ่ยหรือตำแย)
นางให้เขาเอาลูกเต่าร้างใหญ่มาแล้ว รับสั่งให้หญิงนักฟ้อนนั้นมายังสำนักของตนแล้ว ให้ใส่ผงเต่าร้างบนที่นอน ที่ผ้าห่ม และระหว่างเครื่องใช้ เป็นต้น ของนางนั้น โดยมิให้นางรู้ตัว โปรยลงตามร่างกายของนาง ราวกับว่าทำความเย้ยหยันเล่น ทันใดนั้นเอง สรีระของนางนั้นได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มใหญ่ ไปนอนบนที่นอนก็ถูกอีก เวทนากล้ายิ่งนักได้เกิดขึ้นแล้วแก่นาง นางได้รับความลำบากมาก
พระอัครมเหสีในกาลนั้นก็คือเธอนี่เอง โรหิณี ในกาลนั้น เธอได้ทำกรรมไว้เพราะอาศัยความโกรธ จึงได้รับโทษเห็นปานนี้ แล้วตรัสว่า
โรหิณี ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ก็ไม่ควรทำเลย
แล้วทรงตรัสเทศนาโปรดพระนางว่า
บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะให้เด็ดขาด พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เจริญวิปัสสนา ไม่ติดข้องในรูปนาม ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล คือ ราคะ โทสะ เป็นต้น
พระนางส่งจิตส่งใจตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง ผลสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะที่ฟังธรรม เมื่อนางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรัศมีช่วงโชติและโชตนาการยิ่งกว่าทวยเทพธิดาทั้งหลาย
เพราะว่านางได้เป็นเทพธิดาประเภทพระอริยะ คือหมายความว่า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็เป็นพระอริยะ เมื่อเป็นเทพธิดาประเภทพระอริยะ ก็ย่อมมีรัศมีช่วงโชตนาการกว่าบรรดาเทพธิดาทั้งหลายที่เป็นปุถุชน บรรดาเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายก็มีความสนใจใฝ่ฝันมาเชยชม แต่ผลสุดท้าย นางก็ได้เป็นอัครมเหสีของท้าวสักกเทวราช
นี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความโกรธนี้มีพิษร้ายแรงยิ่งนัก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุที่เราทั้งหลายจะทำลายความโกรธให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ หรือจะบรรเทาความโกรธลงไปได้นั้น มีหลายสิ่งหลายประการ แต่ก็ขอบรรยายเพียงคร่าวๆ คือ
ประการที่ ๑ เราต้องใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ถึงโทษของความโกรธว่า ความโกรธนี้ดีหรือไม่หนอ ถ้าเราโกรธลงไปแล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องพิจารณา
ประการที่ ๒ ก็ให้เราเจริญเมตตามากๆ นึกถึงคนที่ไม่ชอบใจขึ้นมาเมื่อใด ก็จงเจริญภาวนาว่า ขอท่านจงเป็นสุขเถิด ขอเจ้าจงเป็นสุขเถิด ขอท่านจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด ก็จะผ่อนคลายความโกรธลงไปได้ ก็จะบรรเทาความโกรธลงไปได้
มิฉะนั้น เราก็พิจารณาว่า อัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันอยู่ เราโกรธเขาเพื่อประโยชน์อะไร เราชังอะไรของเขา เราโกรธตาเขาหรือ หรือโกรธหูเขา หรือโกรธจมูกเขา หรือว่าโกรธลิ้นเขา หรือโกรธผมเขา หรือโกรธขาเขา โกรธแขนเขา เราไล่ไปๆ
ผลสุดท้าย ก็จะสามารถบรรเทาความโกรธไปได้ เพราะว่าเรารู้แล้วว่า เราเจริญวิปัสสนามานี้ เราเห็นว่าอัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันอยู่ เมื่อหมดสภาพแล้วก็สลายไป แล้วเราจะโกรธธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ เพื่อประโยชน์อะไร
เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะบรรเทาความโกรธลงไปได้ หรือมิฉะนั้น สำหรับท่านที่ได้สมาธิ ที่สามารถเข้าสมาธิได้ ก็อธิฏฐานจิตเข้าสมาธิ เมื่อเราออกจากสมาธิมา ความโกรธก็จะบรรเทาเบาบางลงไป หรือมิฉะนั้น ถ้าเราจะทำลายให้เด็ดขาดไป โดยที่ไม่มีเหลือหลอในขันธสันดานของเรา ก็ต้องตั้งอกตั้งใจเจริญวิปัสสนาภาวนา
เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา ผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ ก็สามารถทำลายโทสะนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ โดยที่ไม่มีเศษมีเหลือในขันธสันดานอีกต่อไป จิตใจของเราก็จะชุ่มเย็น หรือหวานฉ่ำ เหมือนกันกับเอาไปหล่อเลี้ยงไว้ในน้ำผึ้ง
คือเมื่อความโกรธดับไปแล้ว ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หลวงพ่อไม่สามารถที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ว่า มันเย็นใจสักแค่ไหนเพียงไร จึงได้เปรียบว่าเหมือนกันกับเอาหัวใจของเรานี้ เอาดวงใจของเรานี้ไปแช่ไว้ในน้ำผึ้ง ที่เรากรองสะอาดเรียบร้อยดีแล้ว แล้วก็เป็นน้ำผึ้งที่สดๆ เราเอาดวงใจของเรานี้ไปแช่ไว้ในน้ำผึ้งที่เย็นฉ่ำ แล้วก็เป็นน้ำผึ้งที่สะอาดปราศจากธุลีทั้งหลายทั้งปวง
เราคิดดูสิว่า มันจะได้รับความชุ่มฉ่ำและหวานเย็นสักปานใด ข้ออุปมานี้ฉันใด จิตใจของเรา เมื่อมันหมดความโกรธแล้ว จะทำให้เรานี้มีความสุขใจอยู่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ มีความเย็นชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะกระทบอารมณ์อะไร ก็จะไม่มีความกระทบกระทั่งแห่งจิต จะไม่ทำให้ความโกรธนี้เกิดขึ้นมาได้ แล้วก็ในทำนองเดียวกัน
เมื่อความโกรธหมดไป กามราคะ คือความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามก็หมดไปด้วย เมื่อความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามหมดไป คือหมดทั้งความโกรธด้วย หมดทั้งกามราคะด้วย ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านก็ลองนึกดูสิว่า มันจะมีความสุขสักแค่ไหนเพียงไร
พวกเราทั้งหลายมีความทุกข์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ บวชเป็นเณรก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ บวชเป็นพระก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงได้ บวชเป็นผ้าขาวแม่ชี ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงลงไปได้ ก็เพราะตัว(กามราคะ)นี้เป็นตัวเหตุสำคัญที่หนึ่ง เป็นเบอร์หนึ่ง ซึ่งทำลายเราให้ได้รับความลำบากและเดือดร้อนดิ้นรนกระวนกระวายในการประพฤติพรหมจรรย์
หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ไม่สามารถที่จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้ตลอดไป คือหมายความว่า ไม่สามารถที่จะบวชเป็นเณรได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถที่จะบวชเป็นพระได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถที่จะบวชเป็นผ้าขาวแม่ชีได้ตลอดชีวิต ตัวการสำคัญก็คือตัวกามราคะ นี้เอง
เมื่อใดเราทำลายกามราคะได้แล้ว ความคิดที่จะสร้างเหย้าสร้างเรือน ความคิดในการมีลูกมีเมียมีลูกมีผัวก็หมดไปแล้ว เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดไป กามราคะก็หมดไป ความโกรธก็หมดไป ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความสุขนี้ไม่มีอะไรที่จะมาเทียบได้
ทีนี้ขอย้ำนิดหนึ่งว่า หากว่าท่านทั้งหลาย ยังทำลายความโกรธนี้ยังไม่ได้ มีวิธีหนึ่งเอาง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีง่ายๆ ที่สุด ท่านทั้งหลาย เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมา ก็ให้กำหนดทันทีว่า โกรธหนอ โกรธหนอ หรือว่า หยุดหนอ หยุดหนอ เราใช้วิธีเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ยับยั้งความโกรธลงไปได้
ประการที่สอง ตั้งปณิธานจิต เรียกว่า มหาปณิธานจิต มีพระรูปหนึ่งเป็นคนเจ้าโทสะ กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธขึ้นมาทันที หลวงพ่อได้แนะวิธีให้เขาตั้งสัจจะปฏิญาณว่าจะไม่โกรธอีกต่อไป เขาก็อธิษฐานว่า
สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานว่า ขอให้แผ่นดินทั้งแผ่นนี้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ ยังไม่ละลายเป็นน้ำไป หากว่าขณะใดที่ข้าพเจ้ามีความโกรธอยู่ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลย ข้าพเจ้าจะไม่เคียดคนนั้น ไม่เคียดคนนี้ (เคียด เป็นภาษาอิสาน คือ โกรธ) หรือจะไม่ด่าคนนั้นไม่ด่าคนนี้ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลย
หมายความว่า เมื่อใดมีความโกรธอยู่ในจิตในใจ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลยเป็นอันขาด ให้เขาตั้งปณิธานจิตอย่างนี้
ผลสุดท้าย เขาก็ตั้งปณิธานจิตตามที่หลวงพ่อบอก ความโกรธก็ค่อยเบาบางไป เบาบางไปทีละน้อยๆ การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็ค่อยดีขึ้นๆ ในที่สุดก็สามารถทำลายความโกรธได้
เอาล่ะท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

ที่มา : http://www.watpitchvipassana.com/vipassana-56-body-is-compared-as-anthill.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น