วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัย






พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัย
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามปกติของในโลกนี้ ย่อมมีของคู่กัน คือ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีเย็นก็ต้องมีร้อน มีชั่วก็ต้องมีดี ควบคู่กันไป
ในทางธรรมะก็เหมือนกัน มีบาปก็ต้องมีบุญ มีกิเลสก็ต้องมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลาย ตามธรรมดานิยมของโลก เป็นมาอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไร
เหตุนั้น แม้ว่าขันธสันดานของเรานี้ท่านจะแบ่งไว้ว่า มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดครอบงำอยู่ หรือเป็นนายเหนือหัวของจิตของใจเราอยู่ก็จริง แต่กิเลสนั้นจะมีมากมายสักปานใดก็ตาม ก็มีธรรมเป็นเครื่องทำลายให้หมดไปได้เหมือนกัน
เราทั้งหลายลองนึกย้อนหลังดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายว่า เมื่อก่อนนั้น ท่านก็มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ได้อาศัยธรรมะซึ่งเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับกิเลส ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไปสูญไป
พระองค์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และยังได้ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนธรรมะนั้นให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลาย
ทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม ต่างก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง ไปตามๆ กัน
ธรรมดาในขันธสันดานของเรานี้ หรือในจิตใจของเรานี้ ส่วนลึกนั้นมีอนุสัยกิเลสเป็นเครื่องนอนดองอยู่ เหมือนขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม อันบุคคลจะทำลายได้โดยยากที่สุด เราจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ ก็ไม่สามารถทำลายได้ ต้องเอาธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้าม ซึ่งมีพลานุภาพมาก มีกำลังมาก มาทำลาย จึงจะสามารถมาทำลายได้
เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยาย เพราะว่า พระไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราทั้งหลายได้
อันธรรมดาว่าลายเสือย่อมอยู่กับตัวเสือ เห็นเสือก็เห็นลายฉันใด แม้ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อรู้ทันปัจจุบันจนเห็นรูปนามดับไปๆ ชัดด้วยปัญญา ก็ฉันนั้น ย่อมจะเห็นลักษณะของรูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์ คือ
๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป
๒. ทุกขัง ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป
๓. อนัตตา ไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป
ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลวดลายของรูปนาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขุดทำลายอนุสัยอันเป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดไป อุปมาเหมือนกันกับทำลายรัง หรือขุดรากของต้นหญ้าฉะนั้น
เพราะเมื่อทำลายได้สิ้นเชิงเมื่อใด ก็จะไม่เจริญขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณเข้าไปพิสูจน์รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว เป็นปัจจัยทำลายต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นอนุสัย
อนุสัย นอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตได้อย่างไร พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัยได้อย่างไร จะได้แสดงไปตามลำดับ แต่ก่อนอื่น ขอแสดงถึงเรื่องวิถีของจิตเสียก่อน
วิถีจิตนั้น เป็นทางเดินของจิต เป็นที่หลั่งไหลของบุญและบาปเข้าสู่ภวังค์
บุญเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีจิตนี้ บาปเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีของจิตนี้เช่นเดียวกัน คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต จนลงสู่ห้วงภวังค์ตามวิถีของจิต ดังนี้
เมื่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นรูปารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะตาเห็นรูปก็ดี สัททารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะหูได้ยินเสียงก็ดี เป็นต้น เกิดขึ้นมา สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง
เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้น ๑ ขณะจิต พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง แล้วเป็นปัจจัยให้ ชวนจิต เกิดขึ้นมาเสพรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๗ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ครั้ง เมื่อชวนจิตดับลงครบ ๗ ขณะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต เกิดขึ้น ๒ ขณะจิต รับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ หลังจากนั้น ภวังคจิต ก็ทำหน้าที่รักษารูปารมณ์เป็นต้นนั้นไว้ในห้วงแห่งภวังค์ต่อไป
(การเกิดขึ้นของวิถีจิตที่มีสัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นนี้ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และได้เฉพาะอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เท่านั้น ในขณะที่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจนั้น สัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเมื่อธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ตัดสินรับเอาธรรมารมณ์นั้นทันที ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิตเสพธรรมารมณ์นั้น ๗ ขณะแล้วเป็นตทาลัมพณะ เป็นภวังค์ต่อไป)
ในลักษณะเดียวกัน อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้นก็เกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตตามลำดับๆ จนถึงตทาลัมพนะ เก็บลงสู่ภวังค์จนเป็นสันดาน เรียกว่า อนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฎฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย ทั้ง ๗ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ
เช่นว่า ราคะความกำหนัด เกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชอบใจ เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นปัจจัยให้ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้น มารับเอาอารมณ์อันประกอบไปด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับไป
เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต ขึ้น เสพอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นติดต่อกันไป ๗ ขณะแล้วดับลง
เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะ เก็บอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นลงสู่ภวังค์ เมื่อตทาลัมพนจิตดับลง ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นไว้ภายในจิตต่อไป ราคะนั้นได้ชื่อว่า ราคานุสัย
ทีนี้หากว่าโทสะก็ดี ทิฏฐิความเห็นผิดก็ดี วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยก็ดี มานะความถือตัวก็ดี ภวราคะความยินดีในภพก็ดี และอวิชชาความเขลาก็ดี เกิดขึ้นเพราะประสบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัย คือโทสะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชานั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลงไป ก็เป็นปัจจัยให้เกิด สันตีรณจิต ขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง
เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิต เกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต เสพอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลง
เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะจิต เก็บเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ อันมีโทสะเป็นต้นลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้น ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นรักษาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นไว้ภายในห้วงภวังค์ เป็นปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย นอนดองอยู่ในขันธสันดาน ตลอดไป
อุปมาเหมือนกันกับเราถ่ายรูป พอเราเปิดหน้ากล้องแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น รูปก็เข้าไปติดอยู่ที่ฟิล์มนั้นตลอดไป อนุสัยนั้นก็เช่นกัน ก็จะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดไป
อนุสัยกิเลส ที่นอนดองในขันธสันดานนี้ เราจะให้ทานจนหมดทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็ดี จะไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ รักษาศีลได้ดีจนกระทั่งวันตายก็ดี เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยนั้นได้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา
เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมแล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยภาวนาญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง
เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิต (กุสลญาณสัมปยุต) เสพอารมณ์ที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้น ๗ ขณะจิต อุปมาเหมือนกับเราได้ธนบัตรใบละ ๕๐๐ มาใบหนึ่ง แล้วก็มาพลิกดูด้านหน้าด้านหลังว่า ใช้ได้หรือเปล่าหนอ พลิกกลับไปกลับมา ๗ ครั้ง เห็นว่าธนบัตรนี้ใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด
เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ๗ ขณะแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทาลัมพนจิตขึ้น ๒ ขณะ รับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้นลงสู่ภวังค์แล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์นั้นเป็นองค์สำคัญอยู่ภายในจิตในใจต่อไป
อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกาลใด ในกาลนั้นชวนจิตทั้ง ๗ ขณะก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และในขณะที่เสพพระไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็จะตัดอนุสัยทั้ง ๗ ประการ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวอนุสัย และไม่ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอนุสัยอีกต่อไป เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์มากเท่าไรๆ อนุสัยก็จะเบาบางน้อยลงไปเท่านั้นๆ จนดับสิ้นเชื้อสิ้นยาง ไม่มีเหลือค้างอยู่ในจิตสันดาน
อุปมาเหมือนกับน้ำหมึกที่เราเขียนเป็นตัวอักษรลงในแผ่นกระดาษ จะเป็นหมึกสีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม สีน้ำเงินก็ตาม เรามีโอกาสที่จะลบมันได้โดยที่ใช้กรดลบหมึก เมื่อเราเอากรดลบหมึกมาหยดใส่ ถ้ากรดลบหมึกนั้นมีความเข้มข้นเพียงพอ พอเราหยดลงไป สีดำ สีแดง สีน้ำเงินเหล่านั้นก็จางหายไปเลย ไม่มีอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่ถ้าว่ากรดลบหมึกนั้นไม่เข้มข้น เมื่อเราหยดลงไป ก็จะยังเป็นคราบสีดำ สีแดง สีน้ำเงินให้เห็นอยู่ ข้อนี้ฉันใด
เรื่องอนุสัยกิเลสกับพระไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น หากว่าอำนาจของพระไตรลักษณ์นั้นมีกำลังอ่อน เมื่อมีกำลังอ่อนเช่นนั้นแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต เมื่อลงถึงภวังคจิตก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยได้เด็ดขาดเหมือนกรดลบหมึกที่ไม่เข้มข้น ไม่สามารถที่จะลบรอยหมึกได้เด็ดขาด
แต่ถ้าขณะใด พระไตรลักษณ์มีอำนาจเต็มที่ หมายถึงในขณะที่พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นนั้น สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ถูกอะไรครอบงำเลย เป็นสติที่มีกำลังมีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังแก่กล้า พระไตรลักษณ์ก็มีกำลังแก่กล้า มีอานุภาพ เมื่อพระไตรลักษณ์ที่มีอานุภาพ ปวัตติไปตามวิถีของจิตลงสู่ภวังค์ อนุสัยกิเลสก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ทำลายได้เด็ดขาด
เหตุนั้น การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ครูบาอาจารย์จึงแนะแล้วแนะอีก พร่ำเตือนแล้วพร่ำเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายอย่าชะล่าใจ ต้องบำเพ็ญสติให้สมบูรณ์ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม จะสรงน้ำ ถ่ายหนักถ่ายเบา นุ่งสบง ห่มจีวร ก็ขอให้มีสติ ให้กำหนดเสียก่อน อนึ่ง ที่แนะนำพร่ำเตือนอย่างนี้ ต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายปลุกสติให้มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก เมื่อพระไตรลักษณ์มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้นให้หมดไปจากจิตจากใจในพริบตาเดียวได้เมื่อเกิดขึ้น
เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ส่วนมากชะล่าใจ อยู่ในอำนาจของอนุสัยกิเลส ไม่อยากที่จะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน และมัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มัวพูดจาปราศรัยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ผลสุดท้ายก็เลยเห็นการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นของธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้ เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้
อนึ่ง การเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งที่ถูกแก่อัธยาศัย อาสวะกิเลสที่ไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในขันธสันดานนั้น คือ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิก็ดี กามาสวะ อาสวะคือกามก็ดี ภวาสวะ อาสวะคือภพก็ดี อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาก็ดี ก็จะถูกทำลายลงไปตามลำดับๆ และจะไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในใจอีกเหมือนกาลก่อนไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะที่มีอยู่ก่อนก็จะบรรเทาเบาบางลงไปทีละน้อยด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณจนสิ้นไป เมื่อสิ้นอาสวะกิเลสขณะใด ก็จะบรรลุสันติลักษณะ คือลักษณะที่สงบจากทุกข์ทั้งปวง ได้แก่พระนิพพาน โดยอาศัยลำดับญาณทั้ง ๑๖ คือเริ่มตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณไปตามลำดับๆ จนถึง อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ และก็เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ เกิดครบสมบูรณ์ถึง ๔ ครั้ง ก็ได้ชื่อว่า อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิเลสสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติจบแล้ว มีจิตอันเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน โอกาสต่อไป หน้าที่ของเราก็เผยแผ่ศาสนา แนะนำลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติอย่างที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติแล้ว
นอกจากนี้ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งว่า วันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันโกน วันต่อไปก็จะเป็นวันพระใหญ่ เป็นวันอุโบสถด้วย วันเช่นนี้ ก็ถือว่าได้เคยเตือนมาแล้วว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปจะเกิดขึ้นมาขัดขวางจิตใจของเรา หรือทำจิตใจให้ผิดปกติ มีอาการหงุดหงิดและกลุ้มใจ อยากออก อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป บางทีก็หนีไปเลยก็มี
เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น พึงสังวรระวังให้ดี พยายามอย่าทำสิ่งใดๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของมารตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะว่า ถ้าเราทำตามอำนาจของมาร ก็จะทำลายล้างคุณงามความดีที่เราจะพึงได้พึงถึงนั้นให้หมดไป สิ้นไป สูญไป
ตามปกติ วันพระนี้มักจะเป็น ทั้งๆที่เราประพฤติปฏิบัติมาดีๆอยู่ แต่พอถึงวันโกนวันพระก็เป็นขึ้นมาเกิดขึ้นมา การพูดฟังแล้วก็ไม่รื่นหู การทำทุกสิ่งทุกอย่าง มองดูแล้วไม่น่าเลื่อมใส สำหรับใจของเราก็ไม่ค่อยเป็นปกติ
เหตุนั้น พึงสังวรพึงระวัง พยายามใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ความเพียร กำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ดี เพื่อจะยังสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะตามปกติการบรรลุหรือการผ่านการประพฤติปฏิบัติส่วนมากก็จะบรรลุหรือผ่านในวันโกนวันพระ
ดังนั้น ในวันโกนวันพระเช่นนี้ ขอให้กำหนดให้ติดต่อกันไป และพยายามอยู่ดึกกว่าวันปกติสักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังผลซึ่งเราได้ตั้งอกตั้งใจไว้ จะได้คุ้มค่าเหน็ดค่าเหนื่อย ถ้าไม่ชะล่าใจ เพียรกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ การปฏิบัติของเราก็ได้ผลเร็ว แต่ถ้าการปฏิบัติของเราย่อหย่อน ก็ได้ผลช้า ได้ผลไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้ผลเสียเลย ขออย่าต้องเป็นผู้เสียใจในภายหลัง.

ที่มา : http://www.watpitchvipassana.com/vipassana-72-three-characteristics-destroy-underlying-tendencies.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น