วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การทำบ่อยๆ





การทำบ่อยๆ

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรากยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถสุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโยติ.[๑]



วันนี้ เป็นวันธัมมัสสวนะ คือวันประชุมฟังธรรม เมื่อถึงวันเช่นนี้ ชาวพุทธผู้หวังความบริสุทธิ์ หวังบุญกุศล หวังผลกำไรแห่งชีวิต ต่างก็มีจิตเป็นกุศล อุทิศตนเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา พากันมุ่งหน้ามาสู่วัดวาอารามเพื่อให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ตามสมควรแก่สติปัญญาของตนๆ ถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล
เพราะมีผลานิสงส์ให้ท่านสาธุชนได้รับฟัง ได้ความรู้ ได้ความฉลาด สามารถน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาในชาติหนึ่งๆ
บัดนี้ เป็นเวลาที่จะได้สดับรับฟังพระสัทธรรมเทศนา จะได้แสดงธรรมในหัวข้อเรื่องว่า บ่อยๆ ตามที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๕๕ อุทยสูตร ดำเนินตามใจความว่า
ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์ ลำดับนั้น อุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็ม ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ครั้งที่สองในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและถือจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์ ลำดับนั้นอุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็มถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ครั้งที่สามในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์
แม้ในครั้งที่สามอุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็ม ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณะโคดมนี้ ติดในรสอาหาร คือติดใจในอาหาร จึงเสด็จมาบ่อยๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์(การเกิด)บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้แล้ว อุทยพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้
คำว่า บ่อยๆ นี้ แปลมาจากศัพท์บาลีว่า ปุนปฺปุนํ ซึ่งนักบาลีนิยมแปลกันว่า บ่อยๆ คือ เสมอๆ เนืองๆ หรือ ถี่ๆ เป็นคำกลางๆ ยังไม่เจาะจงลงไปว่า เป็นฝ่ายดี หรือเป็นฝ่ายชั่ว
ถ้าเป็นฝ่ายไม่ดี ให้เติมคำที่เป็นฝ่ายไม่ดีลงไปข้างหน้า เช่น ทำบาปบ่อยๆ เกียจคร้านบ่อยๆ ทำชั่วบ่อยๆ ดังนี้ เป็นต้น ถ้าเป็นฝ่ายดี ต้องเติมคำที่เป็นฝ่ายดีลงไปข้างหน้า เช่น ทำบุญบ่อยๆ ทำทานบ่อยๆ รักษาศีลบ่อยๆ ไหว้พระสวดมนต์บ่อยๆ เจริญกัมมัฏฐานบ่อยๆ ดังนี้ เป็นต้น
แต่ในที่นี้จะได้อธิบายขยายความไปในทางที่ดีตามเนื้อหาสาระ ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเอาในทางที่ดี มีประโยชน์ดังนี้ คือ
กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ เมื่อหว่านพืชบ่อยๆ ก็ได้พืชบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ได้ขายบ่อยๆ ได้เงินบ่อยๆ ไม่อดไม่อยากบ่อยๆ มั่งคั่งสมบูรณ์บ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ได้น้ำบ่อยๆ อาบได้บ่อยๆ ต้นไม้งามบ่อยๆ ผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์บ่อยๆ ขายดีบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ร่ำรวยบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ เมื่อไถนาบ่อยๆ หญ้าตายบ่อยๆ ได้ปุ๋ยบ่อยๆ ดินดีบ่อยๆ ข้าวงามบ่อยๆ ได้เก็บเกี่ยวข้าวบ่อยๆ ได้ข้าวมากบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ขายข้าวได้เงินบ่อยๆ ได้ทำบุญทำทานบ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ
แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ เมื่อบริบูรณ์ก็ไม่อดไม่อยากบ่อยๆ ส่งไปขายเมืองนอกบ่อยๆ นำเงินปอนด์นำเงินดอลลาร์เข้ามาประเทศของตนบ่อยๆ ร่ำรวยบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ เมื่อขอบ่อยๆ ก็ได้เงินบ่อยๆ เมื่อมีเงินแล้วอยากได้อะไรก็ซื้อได้บ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์บ่อยๆ มีความสุขบ่อยๆ สบายบ่อยๆ
ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานย่อมเดินจงกรมบ่อยๆ เมื่อเดินจงกรมบ่อยๆ ย่อมแข็งแรงบ่อยๆ มีสมาธิดีบ่อยๆ เกิดปัญญาบ่อยๆ เมื่อปัญญาเกิดบ่อยๆ ย่อมได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานบ่อยๆ ได้โลกุตตรสมบัติบ่อยๆ
แม่ค้าพ่อค้าย่อมขายของบ่อยๆ เมื่อขายของบ่อยๆ ก็ได้เงินบ่อยๆ ได้กำไรบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ มั่งคั่งสมบูรณ์บ่อยๆ ตั้งตนได้บ่อยๆ ดังนี้ ผู้ต้องการนมย่อมรีดนมบ่อยๆ เมื่อรีดนมบ่อยๆ ก็ได้น้ำนมบ่อยๆ ได้ดื่มบ่อยๆ ได้ขายบ่อยๆ ได้ทำบุญบ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ ได้ทรัพย์ภายนอกและอริยทรัพย์ภายในบ่อยๆ
ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ เมื่อเข้าหาแม่โคบ่อยๆ ก็ได้ดื่มน้ำนมแม่บ่อยๆ ไม่หิวบ่อยๆ อิ่มบ่อยๆ ร่างกายสมบูรณ์ด้วยดีบ่อยๆ แข็งแรงบ่อยๆ ราคาแพงบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ เมื่อลำบากในการทำงานหาเงิน หาปัจจัย ๔ ศึกษาเล่าเรียนและดิ้นรนขยันทำงานบ่อยๆ ก็ย่อมจะได้งานบ่อยๆ ได้เงินบ่อยๆ ได้ปัจจัย ๔ บ่อยๆ เรียนจบบ่อยๆ สอบได้บ่อยๆ มีความรู้มากบ่อยๆ งานก็มีมากบ่อยๆ สมดังคำที่ท่านผู้รู้กล่าวสอนไว้ว่า

     การเรียนเพียรยิ่งแล้วเกิดความ รู้เอย
รู้เลิศเกิดกิจการตามเพราะรู้
การกิจผลิตผลงามคือทรัพย์ สมบัตินา
ทรัพย์ช่วยอำนวยกู้ก่อให้ สุขเกษม



คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ หมายความว่า คนโง่ไม่มีปัญญา ไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ภพชาติก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดยุติลงได้ วัฏสงสารก็เพิ่มความยาวออกไปอีกเรื่อยๆ สมดังพระบาลีว่า จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา ดังนี้เป็นต้น ใจความว่า การที่เราท่านทั้งหลายพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงไปได้ แท้ที่จริงเพราะเราไม่เห็นอริยสัจ ๔ นั้นเอง ดังนี้
สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ ที่เกิดบ่อยๆ ก็เพราะอำนาจแห่งตัณหา เพราะตัณหาพาให้สัตว์เกิดบ่อยๆ ดังพระบาลีว่า ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหายังสัตว์ให้เกิดบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ ก็ตายบ่อยๆ ที่ตายบ่อยๆ ก็เพราะเกิดบ่อยๆ เกิดเท่าไหร่ตายเท่านั้น ไม่มีเหลือ สมดังท่านผู้รู้ได้สอนไว้ว่า

     อันสังขารเกิดขึ้นแล้วแตกดับ
เพราะว่าสังขารนับเยี่ยงหม้อ
มีเกิด แก่ ตายยับตลอดทั่ว กันนา
มี มิมี ไม่เหลือล้อเพิ่มพื้น พสุธา



บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะคนตายบ่อยๆ คนตายบ่อยๆ ก็เพราะสิ้นบุญบ่อยๆ และสิ้นทั้งสองอย่างบ่อยๆ เมื่อหมดบุญหมดอายุก็ต้องตายบ่อยๆ
บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ข้อนี้หมายความว่า คนที่มีปัญญานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาเห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายว่าเป็นภัยที่น่ากลัว เป็นกองทุกข์อันยิ่งใหญ่ จึงได้พยายามสร้างบุญสร้างกุศล สร้างบารมีไม่ย่อท้อ เช่น ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญสมถะวิปัสสนาบ่อยงใหญ่จึงได้พยายามสๆ เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานบ่อยๆ โดยถือว่าถ้าไม่ได้บรรลุในปฐมวัย ก็จะได้บรรลุในมัชฌิมวัย ถ้าไม่ได้บรรลุในมัชฌิมวัย ก็จะได้บรรลุในปัจฉิมวัย
ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจฉิมวัย ก็จะได้บรรลุในเวลาใกล้จะตาย ถ้าไม่ได้บรรลุในเวลาใกล้จะตาย ตายแล้วก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ แล้วปฏิบัติบนสวรรค์โน้น ถ้ายังไม่ได้บรรลุบนสวรรค์ เมื่อกลับลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง จะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นแน่แท้
เมื่อไม่ได้พบพระพุทธศาสนาเพราะเป็นสุญกัป ก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานด้วยตนเอง จะได้สิ้นภพสิ้นชาติ สิ้นกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ดังนั้น คนฉลาดคนมีปัญญาจึงได้สร้างบุญบ่อยๆ และยังความพอใจให้เกิดขึ้นในบุญนั้นบ่อยๆ
เพราะถือว่าบุญเท่านั้น ที่จะให้เกิดความสุข ตั้งแต่ขั้นต่ำกระทั่งถึงพระนิพพาน สมดังเทศนาบรรหารที่ได้ยกไว้เป็นหัวข้อในเบื้องต้นนั้นว่า ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา ดังนี้ เป็นต้น ใจความว่า หากว่านรชนจะทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้นบ่อยๆ เพราะว่าการสั่งสมบุญบ่อยๆ ให้เกิดความสุขบ่อยๆ ทั้งในโลกนี้ทั้งโลกหน้า ดังนี้
คำว่า บุญ แปลว่า ชำระ คือชำระกายวาจาใจให้สะอาดก็ได้ แปลว่า กรอง คือกรองเอาบาปออก เอาของไม่ดีออก เอาไว้แต่ของดีๆ ก็ได้ แปลว่า เต็ม คือ ผู้ทำบุญต้องเต็มใจทำ ทำด้วยความเต็มใจ และทำบุญเพื่อยังบารมีให้เต็มก็ได้
บุญเป็นชื่อของความสุขทั้ง ๑๐ ประการ คือสุขของมนุษย์ สุขทิพย์ สุขในฌาน สุขในวิปัสสนา สุขในมรรค สุขในผล สุขคือพระนิพพานก็ได้ บุญนั้นมี ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา บุญมี ๔ คือ กามาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวในกามภูมิ ๑ รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ ๑ อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภูมิ ๑ โลกุตตรบุญ บุญเหนือโลกทั้งสามนั้น ได้แก่บุญที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
บุญ ๑๐ นั้น คือ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ๑ สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ๑ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ๑ อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญโดยวัยโดยคุณและโดยชาติ ๑ เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ ๑ ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ ๑ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ๑ ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑ ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ๑ ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรงคือทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าบาปมี บุญมี สวรรค์มี นรกมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น ๑
อานิสงส์ของบุญ มีดังนี้คือ ใครจะมาแย่งเอาบุญไปไม่ได้, บุญสามารถติดตามตนไปทุกฝีก้าว ดุจเงาติดตามตนไปทุกหนทุกแห่งฉะนั้น เมื่อละร่างนี้ไปแล้วยังสามารถถือเอาบุญติดตามไปได้ในที่ตนเกิดอีกด้วย, บุญไม่ทั่วไปแก่คนอื่น ใครทำใครได้ บุญโจรลักไปไม่ได้,
บุญให้สมบัติที่เราต้องการได้ทุกอย่าง, เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสมบัติใดๆ ได้สมบัตินั้นๆ ตามปรารถนาก็เพราะบุญ, มีเสียงไพเราะ มีทรวดทรงงาม มีรูปสวยก็เพราะบุญ, ได้เป็นใหญ่ มีบริวารซื่อสัตย์จงรักภักดี ได้เป็นพระราชาในประเทศหนึ่งๆ ก็เพราะบุญ, ได้อิสริยยศ โภคยศ กิตติยศ สัมมานยศก็เพราะบุญ, ได้เพื่อนดี ได้วิชชา ได้วิมุติ ได้วิโมกข์ ๓ ได้วิโมกข์ ๘ ก็เพราะบุญ, ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะบุญ
บุญเป็นต้นเหตุของความสุขทุกประการ, บุญเป็นรากเหง้าของสมบัติทั้งปวง, บุญเป็นที่ตั้งอาศัยโภคสมบัติทุกอย่าง, บุญเป็นเครื่องป้องกันอันตรายอันประเสริฐสำหรับบุคคลผู้เดินทางไกลกันดารคือวัฏสงสาร, ที่พึ่งอื่นเช่นกับบุญนั้นไม่มี, บุญเป็นเช่นกับที่อยู่ของราชสีห์,
บุญเป็นเช่นกับพื้นแผ่นดิน เพราะเป็นที่พึ่งอาศัย, บุญเป็นเช่นกับเชือก เพราะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจ, บุญเป็นเช่นกับเรือ เพราะพาข้ามโอฆะสงสาร, บุญเป็นเช่นกับบุคคลผู้แกล้วกล้าในสงคราม, บุญเป็นเช่นกับพระนครที่บุคคลตกแต่งดีแล้ว, บุญเป็นเช่นกับดอกปทุม เพราะไม่เปรอะเปื้อนด้วยของสกปรกและมีกลิ่นหอม, บุญเป็นเช่นกับไฟ เพราะเผาบาปให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน,
บุญเป็นเช่นกับอสรพิษ เพราะกัดบาปออกทิ้ง, บุญเป็นเช่นราชสีห์ เพราะทำให้องอาจกล้าหาญ, บุญเป็นเช่นกับโคอุสุภราช เพราะประเสริฐวิเศษสุด, บุญเป็นเช่นกับพญาช้าง เพราะมีกำลัง, บุญเป็นเช่นกับม้าวลาหกตัวประเสริฐ เพราะพาข้ามโอฆะสงสารได้อย่างรวดเร็วดุจม้าอัสดรตัวที่มีฝีเท้าดีฉะนั้น
บุญเป็นหนทางที่นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้ดำเนินไปแล้ว, และบุญเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เอวํ มหตฺถิกา เอสา ยทิทํ ปุญฺญสมฺปทา บุญดี มีประโยชน์ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ดังบรรยายมาฉะนี้

ตสฺมา ธีรา ปสํสนฺติปณฺฑิตา กตปุญฺญตํ
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายจึงยกย่องสรรเสริญบุคคลที่ทำบุญไว้แล้ว ว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดังนี้



ดังนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเตือนเหล่าพุทธบริษัทไว้ว่า

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรากยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถสุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโยติ.



หากว่า นรชนจะทำบุญ ก็จงทำบุญนั้นบ่อยๆ จงทำความพอใจในบุญนั้นบ่อยๆ เพราะบุญที่ตนได้สั่งสมไว้แล้ว ให้เกิดความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า
เอาล่ะญาติโยมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้แสดงพระสัทธรรมเทศนามา ในเรื่องคำว่า บ่อยๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.





[๑] (ขุ. ขุทฺทก. ธมฺมปทคาถา ๒๕ / ๑๙ /๓๐)

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=EIqAwXrapZk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น