วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558



ธาตุ ๑๘
ธาตุ สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตนจริงแท้ เป็นสภาวะที่ยืนให้พิสูจน์ ยืนให้รู้ ยืนให้เห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะหมายความว่า ปราศจากอาการของสัตว์ ปราศจากอาการของชีวะ คือไม่มีการไป การมา การกิน การนอน และการประกอบกิจอย่างอื่น ไม่มีชีวิตที่เที่ยงอยู่เสมอ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธาตุ มีอยู่ ๑๘ ด้วยกัน คือ
๑. จักขุธาตุ (ธาตุตา)
๒. โสตธาตุ (ธาตุหู)
๓. ฆานธาตุ (ธาตุจมูก)
๔. ชิวหาธาตุ (ธาตุลิ้น)
๕. กายธาตุ (ธาตุกาย)
๖. มโนธาตุ (ธาตุใจ)
๗. รูปธาตุ (ธาตุสี)
๘. สัททธาตุ (ธาตุเสียง)
๙. คันธธาตุ (ธาตุกลิ่น)
๑๐. รสธาตุ (ธาตุรส)
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุกระทบ)
๑๒. ธัมมธาตุ (ธาตุธรรม)
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุเห็น)
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุได้ยิน)
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้กลิ่น)
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้รส)
๑๗. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ถูกต้องทางกาย)
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ทางใจ)
รวมเป็น ธาตุ ๑๘ นี้ถือเอาสภาวะปรมัตถ์ ก็เหมือนกับ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เช่นเดียวกัน ดังจะแสดงสงเคราะห์เข้ากันดังนี้
๑. จักขุธาตุ คือ จักขุปสาทรูป
๒. โสตธาตุ คือ โสตปสาทรูป
๓. ฆานธาตุ คือ ฆานปสาทรูป
๔. ชิวหาธาตุ คือ ชิวหาปสาทรูป
๕. กายธาตุ คือ กายปสาทรูป
๖. มโนธาตุ คือ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง กับ ปัญจทวาราวัชชนะ ๑ ดวง
๗. รูปธาตุ คือ รูปารมณ์
๘. สัททธาตุ คือ สัททารมณ์
๙. คันธธาตุ คือ คันธารมณ์
๑๐. รสธาตุ คือ รสารมณ์
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ คือ โผฏฐัพพารมณ์
๑๒. ธัมมธาตุ คือ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และพระนิพพาน ๑
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ คือ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ คือ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ คือ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ คือ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๗. กายวิญญาณธาตุ คือ กายวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ คือ มโนวิญญาณจิต ๗๖ ดวง
อนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ เมื่อจัดเป็นพวกๆ ได้ ดังนี้ คือ
๑. ธาตุรับ (ทวาร ๖)
๒. ธาตุกระทบ (อารมณ์ ๖)
ดังจะได้แสดงดังต่อไปนี้

ธาตุรับธาตุกระทบธาตุรู้
จักขุธาตุรูปธาตุจักขุวิญญาณธาตุ
โสตธาตุสัททธาตุโสตวิญญาณธาตุ
ฆานธาตุคันธธาตุฆานวิญญาณธาตุ
ชิวหาธาตุรสธาตุชิวหาวิญญาณธาตุ
กายธาตุโผฏฐัพพธาตุกายวิญญาณธาตุ
มโนธาตุธัมมธาตุมโนวิญญาณธาตุ


สำหรับ ธาตุ ๑๘ นี้เมื่อย่นลงแล้ว คงเป็นรูป เป็นนามเท่านั้น ดังนี้ คือ
จักขุธาตุ เป็นรูปธรรม
รูปธาตุ เป็นรูปธรรม
จักขุวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
โสตธาตุ เป็นรูปธรรม
สัททธาตุ เป็นรูปธรรม
โสตวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ฆานธาตุ เป็นรูปธรรม
คันธธาตุ เป็นรูปธรรม
ฆานวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ชิวหาธาตุ เป็นรูปธรรม
รสธาตุ เป็นรูปธรรม
ชิวหาวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
กายธาตุ เป็นรูปธรรม
โผฏฐัพพธาตุ เป็นรูปธรรม
กายวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
มโนธาตุ เป็นนามธรรม
ธรรมธาตุ เป็นรูปธรรมและนามธรรม
มโนวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
รวมความว่า ธาตุ ๑๘ จัดเป็นรูปธรรม ๑๐ เป็นนามธรรม ๗ เป็นทั้งรูปธรรม-นามธรรม ๑ หรือจะเรียกธาตุนี้ว่า รูปธาตุ-นามธาตุ ก็ได้
อีกอย่างหนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ก็คือ ธาตุ ๖ นั่นเอง ได้แก่ ปฐวี-อาโป-เตโช-วาโย-อากาศ-วิญญาณธาตุ นั่นเอง
อัตตภาพร่างกายของคนและสัตว์ ถูกคุมเข้าจากธาตุทั้งหลายเหล่านี้ จะสูง จะต่ำ จะดำ จะขาว เป็นต้นก็แล้วแต่ ส่วนผสมของธาตุทางธรรม ยังไม่จัดว่าเป็นบุญเป็นบาป นับแต่ในขณะที่ธาตุผสมกัน มาถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เขาก็ให้สมัญญาว่า คน พอคลอดออกมาก็เป็น คน ทีเดียว แต่ยังไม่ดี ไม่ชั่ว จะให้ดี ให้ชั่ว ต้องหาใส่ใหม่
เหมือน แก้วเปล่า ถ้าเราหาน้ำมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำ เอายามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วยา ถ้าเอาน้ำฝนมาใส่เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำฝน ถ้าเอาเครื่องดื่มมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเครื่องดื่ม ถ้าหาเหล้ามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเหล้า ฉันใด คนเรา ก็เหมือนกัน จะให้ดีหรือชั่ว ต้องหาใส่ใหม่ ถ้าหาชั่วมาใส่ ก็เป็น คนชั่ว เป็นพาล เป็นนักเลง นักปล้น เป็นต้น ถ้าหาดีมาใส่ ก็เป็น คนดี
เหมือนกันกับพวกเราทำอยู่ทุกวันนี้ เราขนเอาความชั่วเก่าออกทิ้ง แล้วขนเอาความดี คือทาน ศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เข้าไปก็เรียกว่า คนดี คนมีทาน คนมีศีล ผู้ได้สมาธิ คนมีปัญญา คนเป็นพระอริยบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ดังนี้.

ที่มา : http://www.watpitchvipassana.com/vipassana-113-eighteen-elements.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น