วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558


โรคใจ ๑๐ ประการ
วันนี้ จะได้บรรยายเสริมการปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป
คำว่า โรค นั้นมันมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. โรคที่เกิดขึ้นทางกาย ก็เรียกว่า โรคกาย
๒. โรคที่เกิดขึ้นทางจิต ก็เรียกว่า โรคใจ
โรคกาย นั้น หากว่าเรารักษาไม่หาย ในโลกนี้มันก็มีจุดจบ คือเมื่อถึงกองฟอน เขาเอาไฟจุดแล้วก็หมดไป
แต่สำหรับ โรคใจ นั้น หากว่าเรารักษาไม่หายในโลกนี้ แม้ตายแล้วก็ยังไม่หาย คือยังจะติดตามเราไป ในภพหน้าชาติหน้าที่เราเกิด แล้วก็ยังเป็นโรคที่ติดอยู่ในจิตในใจของเราตลอดไปจนกว่าเราสามารถที่จะรักษา คือกำจัดให้มันหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจแล้วนั้นแหละ จึงจะชื่อว่ารักษาโรคใจได้ โรคใจจึงจะหายได้ โรคใจ นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑. โรคโลภะ ความอยากได้ในทางทุจริต คืออยากได้ในอารมณ์ ๖ อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ น่าชอบใจ น่าปรารถนา น่าใคร่
๒. โรคโทสะ ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาต คือไม่พอใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ประการ คือไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ
๓. โรคโมหะ ความหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง
๔. โรคมานะ ความเย่อหยิ่งถือตัว
๕. โรคทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ ว่าบุญบาปไม่มี เป็นต้น
๖. โรควิจิกิจฉา ความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย ว่ามีจริงหรือไม่
๗. โรคอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตส่าย ใจวอกแวก
๘. โรคถีนะ ความหดหู่ ซึมเซาท้อถอยจากการงาน อยากนอนอย่างเดียว
๙. โรคอหิริกะ ความไม่ละอายต่อบาปทุจริตต่างๆ
๑๐. โรคอโนตตัปปะ ความไม่กลัวต่อบาปทุจริต
โรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ โรคมานะ โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉา โรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคไม่ละอายบาป โรคไม่กลัวบาป คุกตะรางสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอใส่ คนที่ไปติดคุกติดตะรางหรือถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ก็เพราะเป็นโรค อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนี้ ผู้ใดไม่มีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้นั้นจะเป็นผู้มีความสุขในโลกนี้
ก็โรคใจนี้ ไม่เหมือนกันกับโรคภายนอก คือไม่เหมือนกับโรคกาย โรคกายนั้นอย่างมากก็เป็นแค่กาย ยาอื่นรักษาไม่หาย พระเพลิงก็รักษาหายหมด ส่วนโรคใจนั้น ถ้าชาตินี้รักษาไม่หาย ก็จะติดไปอีกในชาติหน้า ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน โรคนี้ก็ตามไปด้วย แต่ว่าโรคนี้ไม่ใช่ว่าจะตามไปให้คุณ แต่ตามไปให้โทษ ถ้าเรามีโรค ๑๐ อย่างนี้ก็เท่ากับมีเพื่อนชั่ว ๑๐ คน คือ
๑. โรคโลภะ โรคประเภทนี้ ชวนให้ลักของเขา ปล้นจี้เขา หลอกลวงเขา ฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชั่น เป็นต้น ล้วนแต่อำนาจของโลภะทั้งสิ้น
ดังเราที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ที่เขาพูดกัน ซึ่งพวกเราไม่น่าจะนำมาพูดกัน หรืออะไรทำนองนี้ เช่นว่า โรคกินเสาไฟฟ้า กินทองแดง โรคกินหิน โรคกินทราย โรคกินปูน กินกรวด อะไรทำนองนี้ ก็ล้วนแต่โลภะนี้เป็นต้นเหตุ ถ้าหากว่าไม่มีโรคคือโลภะ การอยากอย่างนั้น หรือการกินอย่างนั้น คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างนั้น ก็คงไม่มี
๒. โรคโทสะ ทำให้เป็นคนดุร้ายเนรคุณ ตัวอย่างที่ลูกฆ่าพ่อแม่ด่าพ่อแม่ ก็เพราะโรคโทสะ นักเรียนทำร้ายครู ศิษย์คิดฆ่าอาจารย์ สามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามี พี่น้องออกจากท้องเดียวกันฆ่ากันได้ ก็เพราะโรคโทสะเป็นต้นเหตุ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ระหว่างสามีภรรยา บางทีไปคบชู้สู่สมมา เอายาพิษให้สามีกิน หรือสามีเอายาพิษให้ภรรยากิน อะไรทำนองนี้ ล้วนแต่เป็นโรคตัวโทสะนี้เป็นต้นเหตุ
๓. โรคโมหะ ทำให้หลงเพลิดเพลินในกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พาหลงไปหาสุรานารี พาชีกีฬาบัตร อกตัญญูเนรคุณ ฉุดคร่าอนาจาร กระทำชำเรา จุดบ้านเผาเมือง
ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้ทุจริต ๓ คือ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ทำให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทำชู้สู่สมกับผัวเขาเมียเขาลูกเขา โกหก ต้มตุ๋น ยักยอก หลอกลวง พูดชั่วเป็นต้น ไม่รู้ขันธ์ ๕ ไม่รู้ความหมายของขันธ์ ๕ ไม่รู้อริยสัจ ๔ หลงติดอยู่ในบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน
๔. โรคมานะ ทำให้เกิดความลำพอง สำคัญตัวเองว่าเราดีกว่าเขาบ้างหละ หรือว่าเราเสมอเขาบ้างละ เราเลวกว่าเขาบ้างละ ทำอะไรมักจะทำตามใจชอบ ใครจะบอกก็ไม่เชื่อ ว่าก็ไม่ฟัง กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก คนประเภทนี้แข็งนอกอ่อนใน เจริญเติบโตไม่ได้
ถ้าอยู่ในวงข้าราชการ ก็ไม่สามารถที่จะเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงๆ ขึ้นไปได้ แม้จะอยู่ในวัดวาอารามก็ไม่สามารถที่จะเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระบวรพุทธศาสนาได้
อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้อย่างนี้ ต้นไม้บางชนิดมันแข็งนอกแต่อ่อนใน แข็งนอกอ่อนในนี้ ส่วนมากก็เจริญไม่ได้ แข็งในแต่อ่อนนอกเจริญได้ เช่น ต้นกะบาก ต้นยางอะไรอย่างนี้มันเจริญได้ แต่ประเภทแข็งนอกอ่อนใน เช่นต้นมะพร้าว ต้นตาล ก็โตไม่มาก
คนเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แม่ชีไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ดังที่เราฟังกันทุกวันว่า วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ พร ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ยศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมเจริญ แก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้เคารพต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ
๕. โรคทิฏฐิ ความเห็นผิด คือมีความเห็นว่าคนเราที่เกิดมานี้ บางคนมั่งมี บางคนยากจน มิใช่เป็นผลที่ทำไว้แต่ปางก่อน ชาติก่อน ที่มั่งมีหรือยากจนนั้น เกิดจากพระพรหมบันดาล เกิดจากพระเจ้าบันดาลบ้าง หรือมีความเห็นว่าการทำดีทำชั่วในชาตินี้ จะไม่ส่งผลให้ได้รับในภพหน้า ชาติหน้า นอกจากว่าไปลักของเขาให้เขาจับได้ นั่นแหละจึงจะได้รับโทษจึงจะเป็นบาป ถ้าเจ้าของเขาจับไม่ได้ก็ไม่เป็นบาป
บางคนก็มีความเห็นว่า การทำดีทำชั่วนั้น ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เป็นแต่กิริยาเท่านั้น หมายความว่า ใครทำดี ใครทำชั่ว ก็ไม่ได้รับผลของความดี ของความชั่ว บางคนเห็นผิด ขนาดว่าพ่อแม่ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็ไม่มีบุญคุณอะไรกับตนเลย เกิดมาหลงอย่างหนัก
๖. โรคถีนะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่เป็นธรรมชาติให้จิตของเราหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ เกิดอาการสะลึม สะลือ การทำงานอะไรก็ไม่กระฉับกระเฉง ท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา เวลาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจับปัจจุบันธรรมได้
เช่น ครูอาจารย์แนะนำพร่ำเตือนว่า ท่านจะนั่งหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือตอนนั่ง ตอนถูก ก็พยายามจับให้ได้ หรือว่าท่านจะนอนหลับไป ตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือตอนนอน ตอนถูก ก็พยายามจำให้ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะจำได้ จำแล้วก็จำอีกๆ คืนแล้วก็คืนเล่าๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ก็ไม่สามารถที่จะจำได้
เพราะเหตุไร ก็เพราะโรคคือตัวถีนะนี่แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามันท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง จิตใจของเราจับอารมณ์ไม่มั่น เลยจับปัจจุบันธรรมไม่ได้
๗. โรคอุทธัจจะ โรคชนิดนี้ เป็นธรรมชาติที่ทำจิตให้ฟุ้งซ่าน คือจิตรับอารมณ์ไม่มั่น เดี๋ยวจิตคิดอารมณ์โน้นบ้าง คิดอารมณ์นี้บ้าง จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก อุปมาเหมือนกันกับรถที่วิ่งบนถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้ว แผ่ซ่านกระจายไปทั่วทิศานุทิศ สรุปแล้วคือจิตไม่เป็นสมาธินั่นเอง
๘. โรควิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่อง บุญบาป โลกนี้ โลกหน้า ในเรื่องนรกสวรรค์ มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น
๙. โรคอหิริกะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่ไม่ละอายบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายผู้อื่น ไม่นึกถึงศักดิ์ศรี และหน้าที่การงาน ฐานะ เพศ ภูมิของตน สามารถทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประเภทนี้สามารถที่จะทำได้
๑๐. โรคอโนตตัปปะ โรคอโนตตัปปะนี้ เป็นโรคที่ไม่กลัวบาป ไม่กลัวใครว่า ไม่กลัวใครนินทา เช่น ลูกทำผิดไม่กลัวพ่อแม่ ศิษย์ทำผิดไม่กลัวครูอาจารย์ นักเรียนทำผิดไม่กลัวครู สามีเจ้าชู้ ทำชู้สู่สมกับหญิงอื่น นอกใจภรรยา ไม่กลัวภรรยาตำหนิ หรือภรรยาไปคบกับชายอื่น เป็นการนอกใจโดยไม่กลัวสามีตำหนิ ข้าราชการประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่กลัว
อโนตตัปปะตัวนี้ ทำให้คนกล้าฆ่ากัน ลักขโมยกัน ทำชู้ผิดประเวณี พูดโกหก พูดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาท ผิดเถียงกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดถ้อยคำที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ สามารถพูดถ้อยคำที่ไร้สาระประโยชน์ หยาบโลน กล้าสูบกัญชา เฮโรอีน ผงขาว บุหรี่ เหล้า นำเข้าซึ่งของเสพติดโดยไม่กลัว กล้าทำบาปโดยไม่กลัวว่า ชาตินี้จะต้องถูกตำหนิปรับไหม ใส่โทษจองจำ พันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต ไม่กลัวผลของกรรมที่จะนำไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในอนาคต เป็นต้น
โรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ที่ผ่านๆ มานี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาและใส่ใจดูว่า มันยังมีในจิตในใจของเราอยู่ไหม เพราะเรามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ประการหนึ่งที่จะละเว้นไม่ได้ ก็คือมารักษาโรคใจทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้มันหายไป สิ้นไป สูญไป และโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติพระวิปัสสนามาจนถึงวันนี้ มันเบาบางลงไป หรือว่ามันหมดไปจากจิตจากใจของเรามากน้อยแค่ไหนเพียงไร
ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเอา คือโรคพวกนี้ โรคโลภะนี้ พระโสดาบันละได้ครึ่งหนึ่ง คือโรคโลภะนี้มันจะมีอยู่ ๘ ตัว พระโสดาบันนั้นละได้ รักษาให้หายไปได้ครึ่งหนึ่งคือ ๔ ตัว สำหรับพระสกทาคามีนั้น ทำให้โรคโลภะที่ยังไม่หายนั้นเบาบางลง สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามี ละได้ทั้งหมด
โรคโลภะนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี ละได้ครึ่งหนึ่ง คือทำลายได้ครึ่งหนึ่ง พระสกทาคามี นั้นทำให้เบาบางลง ยังละไม่ได้ สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามีหรือผู้ที่สำเร็จพระอริยมรรคอริยผลขั้นที่ ๓ ก็สามารถที่จะรักษาโรคโทสะนี้ให้หมดไป
โรคโทสะ นั้นมันมี ๒ ประการ คือ
๑. โทสะที่เกิดขึ้นโดยลำพัง โดยที่ไม่มีใครยุยงส่งเสริม ก็เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่อาศัยอารมณ์ทั้ง ๖ ประการมากระตุ้น
๒. โทสะที่เกิดขึ้นเพราะมีผู้มากระตุ้น คือเกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์ ๖ มากระตุ้นคือ มีผู้ใดมากระตุ้นหรือมายุยงส่งเสริมเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ โรคโทสะทั้ง ๒ นี้ ถ้าว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว มันจะหมดไป ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ
ท่านทั้งหลายจะต้องวัดดูว่า ขณะนี้เรายังมีความโกรธอยู่ไหม กระทบอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังมีความหงุดหงิด ยังมีความน้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ คิดอยากฆ่าเขา คิดอยากแก้แค้นเขา คิดพยาบาท อาฆาต จองล้าง จองผลาญเขาอยู่ไหม ถ้ามันมี ก็แสดงว่าเรายังไม่ถึงขั้นอนาคามี
แต่ถ้ามันไม่มี เขาพูดไม่ดีก็เฉย ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จิตใจของเราไม่เปลี่ยนแปลง จิตใจของเรายังเป็นปกติอยู่ คือถูกว่าในสิ่งที่ไม่ดี หรือกระทบในสิ่งที่ไม่ดีก็เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี้ก็แสดงว่าโรคโทสะมันหายไป เมื่อโรคโทสะมันหายไป ก็แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านจวนจะจบอยู่แล้ว ถ้าเราผ่านการปฏิบัติได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
สำหรับโรคทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นชอบว่าบุญบาปไม่มีเป็นต้น และก็โรควิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยเป็นต้น โรค ๒ ตัวนี้ พระโสดาบันละได้หมด คือพระโสดาบันรักษาให้หายไปจากจิตจากใจ
โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉานี้ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันไปแล้ว จะไม่มีในขันธสันดานของท่านอีกเลย คือจะไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลพระนิพพาน พูดเอาสั้นๆ ว่า ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระรัตนตรัยแล้ว หมดแล้ว ไม่มีแล้ว
ทีนี้ สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้น ก็ไม่มีแล้วทีนี้ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าว่าเราสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็สามารถที่จะรักษาให้หายได้ สำหรับโรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคอหิริกะ โรคอโนตตัปปะนั้น พระอรหันต์จึงจะละได้เด็ดขาด
เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว โรคอุทธัจจะก็ดี โรคถีนมิทธะก็ดี โรคอหิริกะก็ดี โรคอโนตตัปปะก็ดี จะหมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมะนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรักษาโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพียงแต่ว่าเรารักษาให้หายไปสักครึ่งหนึ่งอย่างนี้ เราก็มีความสุขแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข และความสุขที่ได้รับก็เป็นความสุขที่ชุ่มฉ่ำ เรียกว่าเป็นความสุขที่บอกไม่ถูกว่า มันสุขแค่ไหนเพียงไร เราบอกไม่ถูก เพียงแต่ว่ามีความสุขในฌานอย่างนี้
สมมติว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปจนได้บรรลุถึงตติยฌานที่ ๓ ได้รับความสุขในฌาน ถ้าเราได้ฌานที่ ๓ นี้ เราก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าความสุขในโลกนี้ ซึ่งเป็นขั้นโลกิยะนั้น ก็มีความสุขในฌานที่เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยม เราก็ถือว่ามีความสุขเต็มที่แล้ว
แต่ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อย่างนี้ ความสุขที่เราได้รับนี้ ก็มีความสุขเพิ่มขึ้นจากความสุขที่อยู่ในฌานที่ ๓ เพราะว่าความสุขที่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้รับนั้น เป็นโลกุตตรสุขแล้ว คือพ้นจากโลกิยสุข เป็นโลกุตตรสุขแล้ว เป็นสุขที่จะนำเข้าสู่พระนิพพานแล้ว
แต่ถ้าหากว่าเราสามารถรักษาโรคให้หายทั้ง ๑๐ ประการ ความสุขนั้น เราบอกไม่ถูกว่ามันสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราอยู่ในโลกนี้ แต่พ้นแล้วจากโลกนี้ เราอยู่ในโลกนี้ แต่ไม่ข้องเกี่ยวในโลกนี้ อารมณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในโลก จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม ไม่สามารถที่จะทำลายระบบจิตใจของเราให้เปลี่ยนแปลงไปได้เลย
จะไม่มีความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ ไม่มีผู้ใดจะมาทำให้รัก ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำให้ชังได้ คือความรักมันก็หมดไป ความชังมันก็หมดไป ความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานามันก็หมดไป ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะหมด อย่างความรักมันไม่น่าจะหมด ความชังมันไม่น่าจะหมด
ความโศกเศร้าโศกาอาดูรปริเทวะ บ่นเพ้อพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมดสิ้นไป ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความหงุดหงิดในจิตในใจ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมด เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หมดไป ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า มันจะมีความสุขแค่ไหน
เพราะว่าเราทั้งหลายที่มีความทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ว่าเพราะเรายังมีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความทุกข์ใจ และเกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าเรารักษาให้หายจากโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็ถือว่าเราได้รับความสุขอันสูงสุดยอดเยี่ยม เป็นเอกันตบรมสุข ไม่มีสุขใดที่เสมอเหมือนได้ อยู่ในโลกนี้ก็ถือว่าเราได้ถึงนิพพานแล้ว ซึ่งเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ถึงนิพพานแล้ว คือจิตใจของเรามันหมดโรคแล้ว
โรคทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปแล้ว คือโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราแล้ว มันยังเหลือแต่เบญจขันธ์เท่านั้น ในเบญจขันธ์นี้ สำหรับใจของเราก็ไม่มีโรคใดๆ ที่จะมาทำลายระบบจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ได้ เราจะมีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา อยู่ในโลกก็พ้นจากโลกแล้ว และเมื่อเราจุติแล้ว คือดับทั้งขันธ์ดับทั้งกิเลสแล้ว ก็เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาดูว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงวันนี้ เราสามารถรักษาโรคของเราให้หายไปได้กี่ตัว ยังเหลืออยู่เท่าไร หายไปแล้วเท่าไร ถ้ามันหายไปแล้วทั้งหมด หลวงพ่อก็สาธุอนุโมทนา ถือว่าการทำการทำงานการปฏิบัติธรรมของท่านก็ไม่ไร้ค่า
การสอนของหลวงพ่อและคณะครูบาอาจารย์ ก็ไม่ไร้ประโยชน์ คือได้ประโยชน์เกื้อกูลทั้งสองอย่าง ญาติโยมที่ถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐากทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกเช้าทุกเพล ก็ไม่ไร้ประโยชน์ น้ำปานะที่ลูกเณรถวายทุกเย็น ก็เป็นประโยชน์โสตถิผลแก่ลูกเณร และก็เป็นบุญเป็นอานิสงส์ของท่านทั้งหลายด้วย
ขอให้เราท่านทั้งหลายได้คิดอยู่เสมอว่า เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ เราจะทำภัตตาหารหรือปัจจัยสี่ ที่ผู้มีศรัทธาถวาย ให้เป็นปัจจัยที่ถวายแก่พระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน เผื่อจะทำอานิสงส์ของผู้ที่มีศรัทธาบริจาคนั้น ให้มีอานิสงส์มากยิ่งขึ้น และเราเองก็จะได้บรรลุโลกุตตรสุข เราจะไม่วกไปสู่อบายภูมิอีกต่อไป เราจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตัวอย่างพระภิกษุใจเพชร มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุททกนิกาย (มีเนื้อหาดังที่เล่าไว้แล้วในเรื่อง สติกับโมหะ)
นี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้า และเป็นเหล่ากอของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ขอให้เราเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า เข้มแข็งเหมือนกันกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอันขาด ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป
ให้คิดเสียว่า ทุกข์นี้ที่เรารับอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะสู้ทุกข์ที่เราจะต้องรับในนรก ในการที่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ได้ ทุกข์ในอบายภูมินั้น มากกว่าทุกข์ที่เราได้รับอยู่นี้ร้อยเท่าทวีคูณ เมื่อเราคิดอย่างนี้แล้ว เราจะมีแก่จิตแก่ใจในการที่จะเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป
เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแถลงไขในเรื่องโรคใจ ๑๐ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมาก็เห็นว่า พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

ที่มา : http://www.watpitchvipassana.com/vipassana-76-ten-kinds-of-diseases.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น